บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่องการพัฒนาเครื่องมือประเมินความสามารถในทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง มีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ พัฒนาแบบประเมินความสามารถในการทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภท กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ 1) ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังที่รับการรักษาตัว ณ หอผู้ป่วย ที่งานบำบัดระยะยาว โรงพยาบาลศรีธัญญา จำนวน 102 คน 2) ผู้ป่วยจิตเภทไม่เรื้อรังที่พักรักษาตัว ณ หอผู้ป่วย ที่แผนกผู้ป่วยในจำนวน 60 คน โดยผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มต้องมีค่าคะแนน BPRS ไม่เกิน 36 คะแนน สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ และไม่มีความพิการทางกาย เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบประเมินความสามารถในการทำหน้าที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยการบูรณาการข้อมูลจากการสัมภาษณ์ญาติผู้ป่วย 20 คน การทำ focus group กับทีมสหวิชาชีพในงานบำบัดระยะยาว 9 คน รวมทั้งข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรม ได้เครื่องมือประเมินความสามารถในการทำหน้าที่ ฉบับยกร่าง นำเครื่องมือประเมินฯฉบับยกร่าง ไปให้ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 8 ท่าน ให้ความเห็น ข้อแนะนำ ตลอดจนให้น้ำหนักคะแนนประจำรายข้อและรายด้าน แล้วปรับแก้ตามคำแนะนำ ผู้วิจัยฝึกผู้ช่วยวิจัยซึ่งเป็นพยาบาลวิชาชีพที่ผ่านการอบรมการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวชระดับหลังการพยาบาลขั้นพื้นฐาน และมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่า 10 ปี จำนวน 2 คน เป็นผู้ช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนกันยายน 2557 ผลการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือ 1) ผลการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาผู้วิจัยใช้เกณฑ์ การเห็นด้วยของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 8 ท่าน ร้อยละ 80 ในการคัดเลือกข้อความทั้งคนด้านและคนข้อบรรจุไว้ในแบบประเมิน ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากคำตอบของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 8 ท่าน ร้อยละ 100 เห็นด้วยกับแบบประเมินคนด้านทุกด้าน ส่วนรายข้อ พบว่า ในแบบประเมินจำนวน 14 ข้อ ผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน เห็นด้วย ร้อยละ 100 ในข้อความทุกข้อของแบบประเมินด้านการดูแลตนเอง การทำหน้าที่ทางสังคม และการรับรู้ต่อการเจ็บป่วย ส่วนด้านการทำงาน ผู้ทรงคุณวุฒิ 8 คน เห็นด้วยร้อยละ 100 เฉพาะข้อ การเริ่มต้นทำงาน ความตั้งใจ และความรับผิดชอบ และเห็นด้วยร้อยละ 85.7 ในข้อปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ความเป็นอิสระในการทำงาน ทำงานตามขั้นตอน และความเรียบร้อยในการทำงาน 2) ผลการหาค่าความสอดคล้องภายในของแบบประเมินฯ โดยผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ในการประเมินผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง 102 คน ด้วยวิธีการหาค่า Cronbach’s Alpha โดยหาแยกกันในแต่ละด้าน ได้แก่ ความสามารถในการดูแลตนเองพื้นฐาน ความสามารถในการดูแลตนเองขั้นสูง การทำหน้าที่ทางสังคม ความสามารถในการทำงาน และการรับรู้ต่อการเจ็บป่วย พบว่า Cronbach’s alpha ในแต่ละด้านมีค่าสูงคืออยู่ระหว่าง 0.800 ถึง 0.987 ซึ่งแสดงว่าคำถามข้อต่างๆสอดคล้องกันดี แต่เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า มีเพียงข้อความเดียว ที่มีค่า Corrected item-total correlation (r) ต่ำกว่า 0.600 คือข้อความร่วมมือในการรักษา ในด้านการรับรู้การเจ็บป่วยมีค่า 0.506 3) ผลการหาค่าเที่ยง ด้วยการทำสอบซ้ำ (Test-Retest Reliability) ในผู้ป่วยกลุ่มเดิมโดยผู้เชี่ยวชาญ 1 คน ระยะเวลาห่างกัน 1 สัปดาห์ นำคะแนนที่ได้ในด้านต่างๆ แล้วหาค่า Intraclass correlation coefficient (ICC) โดยกำหนดให้ค่า ICC มีค่าตั้งแต่ .600 ขึ้นไป ผลการวิเคราะห์พบว่า แบบประเมินความสามารถในการทำหน้าที่ มีค่า ICC สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (.600) ทุกด้าน โดยด้านความสามารถในการดูแลตนเองขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้า การทำหน้าที่ทางสังคม ความสามารถในการทำงาน และการรับรู้ต่อการเจ็บป่วย มีค่า ICC เท่ากับ .996 ,1.000 ,1.000,1.000 และ 1.000 ตามลำดับ ฯ 4) การหาค่าเที่ยงระหว่างผู้ประเมิน (Inter-rater reliability) โดยผู้ประเมิน 3 คน ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ช่วยวิจัย 2 คน ในผู้ป่วยจิตเภทกลุ่มเดียวกัน 102 คน โดยทำการประเมิน ณ เวลาเดียวกัน พบว่า มีค่า ICCสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (.600) ทุกด้าน โดยความสามารถในการดูแลตนเองขั้นพื้นฐานและขั้นก้าวหน้า การทำหน้าที่ทางสังคม ความสามารถในการทำงาน และการรับรู้ต่อการเจ็บป่วย โดยมีค่า ICC เท่ากับ 0.963, 0.948, 0.925, 0.972 และ 0.985 ตามลำดับ 5. การหาค่าอำนาจจำแนก (Discriminating validity) ด้วยวิธี Known-Group Technique ประเมินโดยผู้ช่วยวิจัย 2 คน ในกลุ่มผู้ป่วยจิตเภทไม่เรื้อรัง 60 คน และสุ่มคะแนนผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังที่ทำการประเมินไปแล้ว(เป็นการสุ่มอย่างง่าย) 60 คน นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยค่า 2-sample t-test ผลการวิเคราะห์พบว่า ผู้ป่วยจิตเภทไม่เรื้อรังและผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง มีคะแนนเฉลี่ยความสามารถในการทำหน้าที่รายด้านทุกด้านแตกต่างกัน ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 โดย ผู้จิตเภทไม่เรื้อรัง มีคะแนนเฉลี่ย การดูแลตนเองขั้นพื้นฐาน การดูแลตนเองขั้นก้าวหน้า การทำหน้าที่ทางสังคม ความสามารถในการทำงาน และการรับรู้การเจ็บป่วย (คะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 15.6, 5.6, 5.9, 20.1, และ 10.2 ตามลำดับ) สูงกว่าผู้ป่วยจิตเภทไม่เรื้อรัง (คะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 14.4, 5.0, 5.0, 16.5 และ 8.6 ตามลำดับ) ซึ่งหมายความว่าแบบประเมินฉบับนี้ สามารถใช้แยกผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังและไม่เรื้อรังออกจากกันได้ ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่าเครื่องมือประเมินความสามารถในการทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรัง ฉบับนี้มีคุณภาพเพียงพอที่จะนำไปใช้ประเมินความสามารถในการทำหน้าที่ของผู้ป่วยจิตเภท เพื่อใช้ประเมินความก้าวหน้าของผลลัพธ์การให้บริการ และผลจากการประเมินและการจัดระดับตามตัวคูณและเกณฑ์การจัดระดับ พบว่า ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังจำนวน 102 คน ในงานบำบัดระยะยาวของโรงพยาบาลมีความสามารถในการทำหน้าที่โดยรวมอยู่ในระดับ 4 ร้อยละ 49.0 รองลงมาอยู่ในระดับ 3 ร้อยละ 42.2 ส่วนน้อยร้อยละ 8.8 ที่มีความสามารถในระดับ 2 และไม่พบว่าผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังคนใดมีความสามารถในระดับ 1 ส่วนความสามารถรายด้านพบว่า ด้านการดูแลตนเอง ด้านการทำหน้าที่ทางสังคม ด้านความสามารถในการทำงาน ด้านการรับรู้การเจ็บป่วย มีความสามารถในระดับ 3 ,3 ,3 และ 4 ตามลำดับ