บทคัดย่อ
การศึกษาอุบัติการณ์และปัจจัยเสี่ยงการล้มในผู้สูงอายุในประเทศไทยจะนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการประเมินความเสี่ยงการล้มเบื้องต้นที่สามารถถูกนำไปใช้จริงโดยบุคลากรทางสาธารณสุขตั้งแต่ระดับชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ภาวะเสี่ยงต่อการล้มได้รับการตรวจประเมินเป็นพื้นฐานเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวถูกคัดกรองหรือตรวจพบและนำไปสู่การแก้ไขตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก คือป้องกันหรือลดความเสี่ยงก่อนที่ปัญหา (การล้มและผลกระทบจากการล้ม) จะเกิดขึ้น โดยการศึกษาครั้งนี้เริ่มจากการศึกษาในชุมชนเขตเมืองและชานเมืองเป็นลำดับแรก โดยเน้นในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งประกอบด้วยประชากรทั้งในชุมชนเขตอุตสาหกรรมและชุมชนเขตเกษตรกรรม เนื่องมาจากข้อจำกัดในด้านระยะเวลาและทุนวิจัยของโครงการวิจัยครั้งนี้ อย่างไรก็ตามคาดว่าผลการศึกษาน่าจะสามารถนำไปประยุกต์กับประชากรในชุมชนของประเทศไทยได้ และสามารถพัฒนาสู่งานวิจัยในอนาคตที่ครอบคลุมตัวแทนประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยได้จริง จากการศึกษาที่ผ่านมา การรักษาหรือป้องกันการล้มที่พบว่าได้ผลดีที่สุดคือ การแก้ไขหรือลดปัจจัยเสี่ยงการล้ม (เนื่องจากการล้มมักเกิดจากสาเหตุหรือความเสี่ยงมากกว่า 1 อย่าง และเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงการล้มที่สาคัญที่สุดปัจจัยหนึ่ง คือความบกพร่องด้านการทรงตัวและความแข็งแรง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงประเภทที่แก้ไขหรือปรับปรุงได้ (Modifiable risk factors) รูปแบบการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและส่งเสริมการฝึกการทำงานของระบบการควบคุมการทรงตัว (Balance exercise) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญในโปรแกรมป้องกันการล้มที่พบว่าให้ผลการป้องกันหรือลดอัตราการล้มในผู้สูงอายุ การวิจัย (ระยะที่ 2) เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการป้องกันการล้มที่มีเป้าหมายและวิธีการลดหรือจัดการกับปัจจัยเสี่ยงที่ตรวจพบจากการตรวจประเมินที่เหมาะสม ที่สามารถระบุปัจจัยเสี่ยงการล้มที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุไทย (จากการวิจัยระยะที่ 1) ร่วมกับการออกกำลังกายที่ส่งเสริมการฝึกความแข็งแรงและความสามารถด้านการทรงตัว น่าจะเป็นแนวทางนำไปสู่การพัฒนาการรักษาและป้องกันการล้มที่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุไทยต่อไป