บทคัดย่อ
โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเรื้อรังต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ การ
ฟื้นฟูผู้ป่วยให้กลับมามีชีวิตเป็นปกติสุขโดยเร็วเป็นเป้าหมายสำคัญของการรักษาโรค ซึ่งนอกจากจะได้ศักยภาพของบุคคลคืนกลับมาแล้วยังช่วยรักษาคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อีกด้วย การฝึกไท้เก๊กตามรูปแบบที่นำเสนอในโครงการเป็นวิธีการหนึ่งที่เชื่อว่าสามารถทำให้สมองกลับมาทำงานได้อีกครั้งตามหลักการยืดหยุ่นของสมอง ซึ่งผู้วิจัยหัวหน้าโครงการเองมีประสบการณ์สอนไท้เก๊กมาเป็นเวลานานและมีประสบการณ์ฝึกให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ และรายงานการศึกษาที่ผ่านมายังขาดการวิจัยแบบทดลองที่เป็น randomised controlled trial เพื่อสนับสนุนผลของการฝึกไท้เก๊กตามรูปแบบที่นำเสนอในโครงการต่อการบำบัดโรคหลอดเลือดสมอง คณะผู้วิจัยจึงจัดทำโครงการวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการบริหารลมหายใจประกอบการใช้จิตภาพในการเคลื่อนไหวร่างกายตามแบบไท้เก๊กในการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต งานวิจัยครั้งนี้จะเป็นการค้นหาแนวทางการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่แตกต่างไปจากที่มีอยู่เดิม เป็นแนวทางบำบัดที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาหรือเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ ไม่จำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพียงแต่มีบุคคลที่พอจะถ่ายทอดวิธีฝึกปฏิบัติที่เหมาะสม แล้วส่วนที่เหลือเป็นเรื่องของผู้ป่วยที่ทุ่มเทให้กับตนเอง
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ทั่วไปเพื่อสร้างนวัตกรรมต้นแบบการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือด
สมองแบบมีส่วนร่วมโดยใช้การเคลื่อนไหวผสานลมหายใจแบบไท้เก๊กในชุมชนและมีวัตถุประสงค์เฉพาะคือ 1)
เพื่อประยุกต์การเคลื่อนไหวผสานลมหายใจแบบไท้เก๊กในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 2) เพื่อศึกษา
ประสิทธิผลของการเคลื่อนไหวผสานลมหายใจแบบไท้เก๊กในการฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 3) เพื่อศึกษาผลของการประยุกต์การเคลื่อนไหวผสานลมหายใจแบบไท้เก๊กที่มีต่อคุณภาพชีวิตและการเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ในตนเอง และ 4) เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคอัมพฤกษ์ด้วยการเคลื่อนไหวที่ประสานกับลมหายใจแบบไท้เก๊ก ในการดูแลผู้ป่วยระดับปฐมภูมิ
การวิจัยนี้อาศัยรูปแบบการวิจัยเป็นทั้งการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบ
randomised controlled clinical trial โดยประกอบด้วยระยะต่างๆ ดังนี้คือ ระยะที่ 1 พัฒนาหลักสูตรการ
อบรมฯ การทดสอบนำไปใช้ และคัดเลือกโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการผ่านโรงพยาบาลของรัฐ สำรวจความ
สนใจของผู้บริหารโรงพยาบาล ความพร้อมของโรงพยาบาล ความเหมาะสมของบุคลากรที่ได้รับการมอบหมายเข้าร่วมโครงการ ระยะที่ 2 อบรมทีมผู้บำบัด TSPR (Tai-chi for Chronic Stroke Patient Rehabilitation)
เก็บข้อมูล คัดเลือกผู้ป่วยฯ และการประเมินผู้ป่วยเพื่อเข้าโครงการ ระยะที่ 3 ระยะบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยในชุมชน
การประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของทีม TSPR การเก็บข้อมูล และการประเมินผู้ป่วย และ ระยะที่ 4 การ
วิเคราะห์และสรุปผลการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีประชากรเป้าหมายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1. บุคลากรที่ให้บริการด้านการบำบัดรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลของรัฐ รวมทั้งหมด 32 คน และ 2. ผู้ป่วยโรค
หลอดเลือดในสมองที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูโดยโรงพยาบาลของรัฐรวมทั้งสิ้น 80 คน สุ่มเข้ารับการบำบัดแบบไม่เจาะจง (Randomization)
สรุปผลการศึกษา การบำบัดผู้ป่วยไท้เก๊กด้วยผู้บำบัดจากโรงพยาบาลที่ผ่านการฝึกฝนวิชาไท้เก๊กผ่านการ
เยี่ยมบ้านบ้านทุก 1 สัปดาห์รวม 9 ครั้ง แล้วตามด้วยเยี่ยมบ้านทุก 2 สัปดาห์ รวม 5 ครั้ง และทุก 1 เดือน รวม 5 ครั้ง ไม่พบความแตกต่างจากกลุ่มควบคุม แต่อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์เฉพาะกลุ่มย่อยพบว่า ผู้บำบัดด้วยศาสตร์ไท้เก๊กที่มีทักษะและศักยภาพสูงมีผลต่อการได้ผลลัพธ์ที่ดีในด้านความผาสุกทางสังคม (Social wellbeing วัดโดยเครื่องมือ FACIT) และความผาสุกทางการปฏิบัติหน้าที่การงาน (Functional well-being วัดโดยเครื่องมือ FACIT) และคุณภาพชีวิต (วัดด้วยเครื่องมือ EQ-5D) ความเข้มข้นของการฝึกและเวลาโดยผู้ป่วยเองส่งผลดีต่อผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิต (EQ-5D) ผู้ป่วยที่มีศักยภาพในการออกแบบท่าฝึกในการออกกำลังกายของตนเองส่งผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านของความผาสุกทางกายภาพ (Physical well-being วัดโดยเครื่องมือ FACIT)และความผาสุกทางการปฏิบัติหน้าที่การงาน (Functional well-being และคุณภาพชีวิต (EQ-5D) สำหรับการพัฒนาการของผู้ป่วยพบว่าผู้ป่วยเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในด้านการเคลื่อนไหว สภาพจิตใจ การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงการเข้าสู่สังคมที่อยู่ได้ดีขึ้น นอกจากนี้โครงการวิจัยยังได้นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์การแพทย์ไท้เก๊ก (Tai-Chi Medical Center) ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชมีการดำเนินงานด้วย 3 แผนงานคือ 1. แผนงานบริการรักษาและส่งเสริมสุขภาพด้วยไท้เก๊ก (Tai-Chi Services Center) ประกอบด้วยคลินิกบริการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็นที่รักษาและรับคำปรึกษาจากแผนกต่างๆ การใช้ไท้เก๊กเพื่อการรักษาในบริการตามแผนกต่างๆ ที่บุคลากรในแผนกต่างๆ การใช้ไท้เก๊กเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแก่ประชาชนในชุมชน/ข้าราชการ /ชมรมผู้สูงอายุ/อสม./สถานประกอบการ และการใช้ไท้เก๊กเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพแก่บุคลากรในโรงพยาบาล/จนท. รพ.สต. 2. แผนงานฝึกอบรมไท้เก๊ก (Tai-Chi Training Center) แผนงานนี้ใช้หลักการฝึกแบบ Team-based learning เกิดเป็น CoPs (Community of Practices) ชุมชนนักปฏิบัติ โดยกระบวนการ KM ประกอบด้วย การฝึกอบรมเพื่อการรักษาพยาบาลแก่เจ้าหน้าที่และบุคลากร / ประชาชนและผู้สนใจ เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ และ แผนงานวิจัยไท้เก๊ก (Tai-Chi Research Center) เพื่อการวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบการรักษาด้วยไท้เก๊กในโรงพยาบาลระดับ รพ.ทั่วไป การรับรู้ต่อการรักษาด้วยไท้เก๊กในบุคลากร ในผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปเช่นผู้สูงอายุ รวมถึงการวิจัยเพื่อการสร้างเครื่องมือเพื่อการรักษาที่เป็นนวัตกรรม โดยสรุปแม้ว่าผลการศึกษาเพื่อวัดผลลัพธ์ในเชิงปริมาณไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ที่เหนือกว่าการเยี่ยมบ้านตามปกติได้ แต่ในการศึกษากลุ่มย่อยพบว่าการฝึกไท้เก๊กช่วยพัฒนาผู้ป่วยให้ดีขึ้นในเงื่อนไขของการมีผู้บำบัดด้วยศาสตร์ไท้เก๊กที่มีทักษะและศักยภาพสูง ความเข้มข้นของการฝึกที่มากและมีเวลาฝึกที่เพียงพอ รวมถึงศักยภาพของผู้ป่วยในการออกแบบท่าฝึกในการออกกำลังกายของตนเอง และข้อมูลเชิงคุณภาพพบว่าผู้ป่วยรายต่างๆ เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้นมีคุณภาพชีวิตทั้งในด้านการเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตประจำวัน ด้านจิตใจ และการเข้าสังคม เป็นต้น ซึ่งผลจากการดำเนินงานในโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีบุคลากรที่ให้ความสนใจเป็นทีม ทำให้เกิดศูนย์การแพทย์ไท้เก๊กที่โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชมีการดำเนินงานด้านการบริการรักษาและส่งเสริมสุขภาพด้วยไท้เก๊ก มีการจัดฝึกอบรมไท้เก๊ก รวมถึงแผนงานการวิจัยเพื่อการพัฒนาระบบการรักษาด้วยศาสตร์ไท้เก๊ก