บทคัดย่อ
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 มีมติเกี่ยวกับนโยบายการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมสำหรับประชาชน และมอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาพัฒนากลไกพัฒนาระบบบริการการตรวจสุขภาพในระดับชาติ ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญในการพัฒนาองค์ประกอบหนึ่งของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย โครงการนี้จึงจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดทางเลือกของกลไกเพื่อพัฒนาระบบบริการตรวจคัดกรองสุขภาพในประเทศไทย วิเคราะห์ และสังเคราะห์ข้อเสนอแนะเพื่อใช้ประกอบเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาทางเลือก ประเมินทางเลือกของกลไกเพื่อพัฒนาระบบบริการตรวจคัดกรองสุขภาพตามเกณฑ์พิจารณาที่เสนอไว้ในเบื้องต้นและพัฒนาแนวทางเบื้องต้นของสิ่งที่หน่วยงานที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในภาคปฏิบัติควรต้องมีการดำเนินการ โดยใช้กระบวนการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยการจัดทำกรณีศึกษาเรื่องที่เกี่ยวข้องเพื่อเทียบเคียงประเด็นการพัฒนา ร่วมกับการประชุมปรึกษาหารือรับฟังข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับบริการตรวจสุขภาพ เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ความท้าทายของระบบบริการตรวจสุขภาพ และกำหนดทางเลือกสำหรับกลไกเพื่อพัฒนาระบบริการตรวจสุขภาพในระดับชาติ
บริการตรวจสุขภาพหรือการตรวจคัดกรองสุขภาพในประเทศไทยมีประเด็นที่เป็นความท้าทายที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับนิยามเชิงปฏิบัติการ ขอบเขตและจุดมุ่งหมายของการตรวจคัดกรองสุขภาพที่หลายฝ่ายยังใช้ไม่ตรงกัน โดยเฉพาะประเด็นการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองสุขภาพ คัดกรองโรค เพื่อจุดมุ่งหมายในการสร้างเสริมสุขภาพ หรือเพื่อจุดมุ่งหมายอื่น (2) ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางและข้อแนะนำในการตรวจคัดกรองสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับคนไทย ผู้ที่ควรรับผิดชอบในการพัฒนาแนวทางและข้อแนะนำ รวมถึงการนำแนวทางหรือข้อแนะนำดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ (3) การให้บริการตรวจคัดกรองสุขภาพด้วยจุดมุ่งหมายเชิงธุรกิจ ซี่งเป็นเหตุที่ทำให้ระบบบริการตรวจสุขภาพมีความซับซ้อน และมีผลประโยชน์ของหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง (4) การกำกับคุณภาพและมาตรฐานของบริการตรวจคัดกรองสุขภาพที่ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจน และ (5) บทเรียนที่เทียบเคียงกันได้ของการจัดการเกี่ยวกับบัญชียาหลักแห่งชาติชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญมีส่วนร่วม และการพิจารณาทางเลือกกลไกต่างๆ จากความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา
ทางเลือกสำหรับกลไกเพื่อพัฒนาระบบบริการตรวจสุขภาพที่ควรนำมาพิจารณา 3 ทางเลือก ประกอบด้วย (1) หน่วยงานกลางในกำกับของรัฐ (2) การให้เป็นภารกิจของหน่วยงานภายในของกระทรวงสาธารณสุข และ (3) คณะกรรมการระดับชาติโดยมีหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยมีเกณฑ์พิจารณาที่อาจนำมาใช้เพื่อเป็นหลักในการตัดสินใจ ได้แก่ การได้รับการยอมรับจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง, ความรวดเร็วในการเริ่มดำเนินการ, ความยั่งยืนและต่อเนื่องของการดำเนินการ, โอกาสการพัฒนาไปสู่องค์กรความเชี่ยวชาญ, ความสามารถในการสื่อสารและเผยแพร่สารสนเทศแก่ผู้เกี่ยวข้อง และความสามารถในการประสานไปสู่การบังคับใช้กฎหมาย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าวในเบื้องต้น คณะทำงานมีความเห็นว่า ทางเลือกลำดับที่ 3 น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด