บทคัดย่อ
การนำนโยบายไปปฏิบัติในพื้นที่ต้องการองค์ความรู้ที่แตกต่างออกไปจากการพัฒนานโยบายการวิจัยเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ (Implementation research: IR) เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนโยบาย (policy process) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากลยุทธ์ (implementation strategy) ในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลลัพธ์ที่เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของนโยบาย และมีความยั่งยืน IR เหมาะกับการวิจัยเกือบทุกนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นในการพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ การศึกษาการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ เข้ามาใช้ในระบบการให้บริการ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในโรงพยาบาล การพยาบาล และวิธีการดูแลผู้ป่วยประเภทต่างๆ แต่ประเทศกำลังพัฒนาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเพราะทรัพยากรมีจำกัด ไม่ควรสิ้นเปลืองทรัพยากรไปกับการปฏิบัติตามนโยบายแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการการนำนโยบายไปปฏิบัติต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการนำนโยบายไปปฏิบัติหลากหลายแนวคิดได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางในการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น The Consolidated Framework of Implementation Research (CFIR), The Promoting Action of Research Implementation in Health Services (PARISH) หรือ The General Implementation Framework (GIF) เป็นต้น กล่าวโดยสรุป ปัจจัยที่มีความสำคัญกับความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติที่สำคัญ ได้แก่ การทำความเข้าใจอย่างชัดเจนกับนโยบาย การมีผู้นำที่มีความมุ่งมั่น (leadership commitment) การคำนึงถึงบริบทของพื้นที่ (organization context) การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติ ความสัมพันธ์ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับ และการมีที่ปรึกษา (coaching) คอยให้คำปรึกษาแนะนำ มีการประเมินควบคู่ไปกับทุกขั้นตอนและมีการพัฒนารูปแบบการดำเนินงาน (PDSA: plan-do-study-act หรือ PDCA: plan-do-check-act) ให้เหมาะสมอยู่เสมอ IR สามารถทำได้ตั้งแต่ ก่อน (pre-implementation) ระหว่าง (during-implementation) และหลังการนำนโยบายไปปฏิบัติ (post-implementation) และใช้ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (quantitative study) เชิงคุณภาพ (qualitative study) หรือใช้ทั้งสองแบบ (mixed method) ควบคู่กันไป เพื่อทำความเข้าใจความเห็น ทัศนคติ ความรู้สึกของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าใจกระบวนการดำเนินการ และมีหลักฐานแสดงผลสำเร็จ (หรือไม่สำเร็จ) รูปแบบการดำเนินงานวิจัยอาจเป็น retrospective study, cross-sectional study, comparison between two groups, randomized - controlled trial, economic evaluation หรือ longitudinal study อย่างไรก็ตาม ผลของการวิจัยที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่หนึ่ง ไม่ได้รับประกันความสำเร็จในพื้นที่อื่น เพราะบริบท (context) เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ผลการทำ IR จึงมีข้อจำกัดในการนำผลการวิจัยไปใช้ในบริบทอื่นๆ วิธีการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติต้องมีหลากหลายรูปแบบ (multi-faceted strategies) มีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ และนำข้อมูลมาสะท้อนระดับความสำเร็จของการนำนโยบายสู่การปฏิบัติด้วย