บทคัดย่อ
ในการจัดทำระบบบริการข้อมูลสถิติสุขภาพแบบบูรณาการบนอินเทอร์เน็ต มีการพัฒนาระบบนำเสนอข้อมูลสถิติสุขภาพในหลายลักษณะตามรูปแบบการใช้ข้อมูล โดยการพัฒนาในระยะที่ 2 มีการพัฒนาระบบนำเสนอข้อมูลใน 4 รูปแบบ ได้แก่ 1) ระบบนำเสนอข้อมูลตามตัวชี้วัดยุทธศาสตร์สร้างเสริมสุขภาพ โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดและพัฒนาระบบนำเสนอข้อมูลตามตัวชี้วัด 11 ด้าน จำนวน 85 ตัว ได้แก่ สถานะสุขภาพโดยรวม การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา อุบัติเหตุจราจร การติดเชื้อเอชไอวี การบริโภคผักและผลไม้ โภชนาการ กิจกรรมทางกาย สุขภาพจิต ครอบครัว และชุมชน โดยมีรูปแบบการนำเสนอข้อมูล 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) รูปแบบกราฟแท่งเปรียบเทียบตามตัวแปร และกรองข้อมูลตามตัวแปร 2) รูปแบบกราฟแนวโน้มตามปี จำแนกและกรองตามตัวแปร 3) รูปแบบแผนที่รายจังหวัดทั้งประเทศ และข้อมูลรายจังหวัด 2) ระบบนำเสนอข้อมูลการป่วยและการตายระดับอำเภอ จังหวัด โดยมีการพัฒนาระบบใน 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ระบบนำเสนอข้อมูลการป่วยและการตายรายจังหวัด โดยจำแนกตามระดับของการใช้ เป็นระดับประเทศ ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด โดยการนำเสนอข้อมูลในแต่ละระดับ จะมีรูปแบบการนำเสนอข้อมูลที่แตกต่างกัน และ 2) ระบบนำเสนอข้อมูลการป่วยและการตายระดับอำเภอ จังหวัด ที่สามารถเลือกเงื่อนไขตัวแปรจำแนกและตัวกรองได้ตามต้องการ โดยเป็นการประมวลผลข้อมูลโดยตรงจากข้อมูลรายบุคคลด้านระบาดวิทยาและการตายรายสาเหตุ 3) ระบบนำเสนอข้อมูลสุขภาพระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน โดยมีการพัฒนาระบบนำเสนอข้อมูลสุขภาพระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน จากข้อมูลการตายของ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดลำพูน จังหวัดราชบุรี และ จังหวัดอุบลราชธานี ประกอบด้วยข้อมูลการตายรายสาเหตุ และการตายรายอายุ ทั้งนี้ระบบการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบนี้จะสามารถแสดงข้อมูลที่เจาะลึกลงไปจากอำเภอ เป็นตำบล และหมู่บ้าน ตามลำดับ 4) ระบบนำเสนอข้อมูลสถิติสุขภาพระดับประเทศ ระดับพื้นที่ และระดับนานาชาติ โดยมีการพัฒนาระบบนำเสนอข้อมูลใน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1) การนำเสนอข้อมูลสถิติสุขภาพระดับประเทศ โดยแสดงข้อมูลในรูปแบบของแนวโน้มของสถิติสุขภาพในระดับประเทศรายปี 2) การนำเสนอข้อมูลสถิติสุขภาพระดับพื้นที่ โดยแสดงข้อมูลในรูปแบบของการเปรียบเทียบระหว่างพื้นที่ในระดับภาค เขต และ จังหวัด โดยสามารถเลือกพื้นที่สำหรับการเปรียบเทียบ และมีการแสดงผลแบบกราฟเคลื่อนไหว เพื่อแสดงการเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลา 3) การนำเสนอข้อมูลสถิติสุขภาพระดับนานาชาติ โดยแสดงข้อมูลประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น และภูมิภาค ในรูปแบบกราฟแท่งเปรียบเทียบ กราฟ แนวโน้ม และแผนที่สุขภาพโลก