บทคัดย่อ
การพัฒนาสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพบนอินเตอร์เน็ต ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพที่ต่อเนื่อง และต่อยอดในด้านต่างๆ ดังนี้
1) การดำเนินงานด้านข้อมูลคลินิกและร้านขายยา โดยมีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของคลินิกและร้านขายยาใน 59 จังหวัด ที่ยังไม่ได้ดำเนินงานในระยะที่ 1 (ระยะที่ 1 ดำเนินการไปแล้ว 17 จังหวัด) และรวบรวมข้อมูลพิกัดทางภูมิศาสตร์ของคลินิกและร้านขายยา โดยได้รับข้อมูลพิกัดคลินิกและร้านขายยาจาก 54 จังหวัด จำนวนประมาณ 17,000 แห่ง รวมทั้งได้รับภาพถ่ายจำนวนประมาณ 13,800 แห่ง โดยมีการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อการแสดงผลข้อมูลคลินิกและร้านขายยา
2) การพัฒนา Application สำหรับ smartphone เพื่อการค้นหาคลินิกและร้านขายยา โดยมีการพัฒนาการแสดงผลข้อมูลในรูปแบบของ web responsive ที่สามารถปรับหน้าจอได้ตามอุปกรณ์ ทั้ง Desktop PC, Laptop PC, Tablet และ smartphone โดยมีการออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน พร้อมระบบแสดงรายชื่อเรียงตามระยะทาง และระบบนำทางจากที่ตั้งปัจจุบัน
3) การปรับปรุงระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพให้มีความเหมาะสม โดยปรับการบันทึกข้อมูลจากการบันทึกข้อมูลใหม่รายปี เป็นการบันทึกข้อมูล ณ ปัจจุบัน และปรับระบบตรวจสอบข้อมูลเป็นการตรวจสอบความสมบูรณ์ของข้อมูล ตามช่วงเวลาที่มีการบันทึกข้อมูลล่าสุด รวมทั้งการปรับรายการข้อมูลตามความต้องการ และการปรับระบบรายงานข้อมูลสถิติทรัพยากรรายสถานพยาบาลที่สามารถส่งออกเป็น Excel เพื่อการใช้งานต่อทั้งในส่วนกลาง และในระดับจังหวัด
4) การติดตามการบันทึกข้อมูลทรัพยากรสุขภาพของสถานพยาบาล โดยสถานพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีการบันทึกข้อมูลสมบูรณ์ 100% โรงพยาบาลอื่นสังกัดกระทรวงสาธารณสุข บันทึกข้อมูล 85% โรงพยาบาลรัฐสังกัดกระทรวงอื่น บันทึกข้อมูล 80% และโรงพยาบาลเอกชนบันทึกข้อมูล 70% โดยเป็นการประเมินความสมบูรณ์ของข้อมูลที่บันทึกครั้งล่าสุดตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2558
5) การขยายผลการใช้งานระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ โดยมีการพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ของเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมข้อมูลสำหรับบริการโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง การพัฒนาระบบแสดงผลสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ ในรูปแบบของ web responsive ที่สนับสนุนการใช้งานโดยประชาชนทั่วไป รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลพิกัดของสถานพยาบาลกับระบบข้อมูลอื่น ได้แก่ ข้อมูลบริการของสถานพยาบาลในระบบ 43 แฟ้มมาตรฐาน และระบบข้อมูลศักยภาพของโรงพยาบาลตาม service plan ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
6) การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการบำรุงรักษาโดยการบันทึกข้อมูลดำเนินการโดยสถานพยาบาลแต่ละแห่ง ปีละ 1-2 ครั้ง การติดตามการบันทึกข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลดำเนินการโดยกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งการบำรุงรักษา Server ของระบบ
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ทรัพยากรสุขภาพ นับเป็นแหล่งข้อมูลทรัพยากรสุขภาพที่สำคัญ เนื่องจากครอบคลุมสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ช่วยในการวางแผนทรัพยากรที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ ทั้งด้านกำลังคนและการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีสถานพยาบาลจากหลายสังกัด ทั้งนี้ข้อมูลที่ได้จากระบบนี้จะถูกนำมาใช้ร่วมกับข้อมูลจากแหล่งอื่น ที่ได้จากระบบบริหารจัดการ จึงเป็นการเติมเต็มข้อมูลทรัพยากรสุขภาพให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น