บทคัดย่อ
มะเร็งลำไส้ใหญ่จัดเป็นมะเร็งที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตติดอันดับต้นๆ ของทั่วโลกและประเทศไทย การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้จะช่วยลดอุบัติการณ์และลดอัตราการเสียชีวิตมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจคัดกรองคำนึงถึง performance ของเครื่องมือ เกณฑ์การคัดกรองกลุ่มเสี่ยง และทรัพยากรทางสาธารณสุข ทำให้แต่ละประเทศมีแนวทางแตกต่างกัน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดแนวทางการตรวจคัดกรองระดับประชากรที่ชัดเจน
วัตถุประสงค์การศึกษา เพื่อศึกษา performance ของการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT) และการประเมินความเสี่ยงทางคลินิก (Asia-Pacific Colorectal Cancer [APSC] risk score) ในการตรวจคัดกรองเนื้องอกลำไส้ใหญ่ในประเทศไทย
วิธีการศึกษา รูปแบบการศึกษา cross-sectional study ในอาสาสมัครที่ไม่มีอาการผิดปกติทางลำไส้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป หรือ มีญาติลำดับที่ 1 เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เข้ารับบริการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่โรงพยาบาลในกรุงเทพ และภูมิภาค ในช่วงเวลา พฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ถึงมีนาคม พ.ศ. 2559 โดยอาสาสมัครทุกคนจะได้รับการตรวจคัดกรองด้วยการส่องลำไส้ใหญ่เป็นมาตรฐานในการวินิจฉัย และอาสาสมัครทุกคนได้รับการซักประวัติเพื่อประเมิน APCS score และเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจ quantitative FIT ในการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หากพบติ่งเนื้อจะตัดออก หรือพบเนื้องอกจะตัดชิ้นเนื้อเพื่อส่งตรวจทางพยาธิ โดยแพทย์ส่องกล้องจะไม่ทราบถึง APCS score และผล FIT วัดผลจากperformance ของการประเมินความเสี่ยงทางคลินิก APCS score, การตรวจ FIT ในแต่ละจุดตัด (25, 50, 100, 150 และ 200 ng/ml) แบ่งกลุ่มอาสาสมัครตามผล APCS score และ FIT ในจุดตัดที่เหมาะสม ออกเป็น 4 กลุ่ม 1.) FIT บวกและ high risk 2.) FIT บวกและ average risk 3.) FIT ลบและ high risk 4.) FIT ลบและ average risk โดยมุ่งดูอัตราการตรวจพบ advanced neoplasm และมะเร็งลำไส้ใหญ่ในแต่ละกลุ่ม
ผลการศึกษา อาสาสมัครเข้าร่วมการศึกษาจำนวน 1,606 คน อายุเฉลี่ย 59.1 ± 7.5 ปี ร้อยละ 64 ของอาสาสมัครเป็นเพศหญิง ร้อยละ 19.8 ของอาสาสมัครมีประวัติญาติลำดับที่ 1 เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในอาสาสมัครทั้งหมด 1,606 คน พบ advanced neoplasia จำนวน 143 คน พบมะเร็งลำไส้ใหญ่ จำนวน 16 คน ดังนั้นความชุกของ advanced neoplasia คิดเป็นร้อยละ 8.9 ความชุกของมะเร็งลำไส้ใหญ่คิดเป็นร้อยละ 1.0 จากการทดสอบ performance ของ FIT พบว่าจุดตัดที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรองเนื้องอกลำไส้ใหญ่ คือ 150 ng/ml สำหรับการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มีค่าความไวร้อยละ 81.3 ความจำเพาะร้อยละ 95.7 มีจำนวนอาสาสมัครที่มารับการคัดกรอง (number needed to screen, NNS) เพื่อตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1 ราย เป็นจำนวน 124 คน มีจำนวนอาสาสมัครที่ต้องมาส่องกล้อง (number needed to colonoscope, NNC) เพื่อวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 1 คนเป็น 7 คน สำหรับการวินิจฉัย advanced neoplasia มีค่าความไวร้อยละ 18.2 ความจำเพาะร้อยละ 96.2 NNS 62 คน NNC 4 คน จากการประเมินความเสี่ยงทางคลินิก APCS score มีอาสาสมัครกลุ่มเสี่ยงสูง 454 คน คิดร้อยละ 28 พบว่าอาสาสมัครกลุ่มนี้ มีความเสี่ยงต่อการตรวจพบ advanced neoplasia 1.78 เท่า (RR, 1.78; 95% CI, 1.30 - 2.44) และมีความเสี่ยงต่อการตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ 4.23 เท่า (RR, 4.23; 95% CI, 1.55 – 11.57) จำแนกอาสาสมัครตามผล FIT ที่จุดตัด 150 ng/ml และ APCS score พบว่าอาสาสมัคร กลุ่มที่ 1 มี 29 คน ร้อยละ 1.8 กลุ่มที่ 2 มี 53 คน ร้อยละ 3.3 กลุ่มที่ 3 มี 425 คน ร้อยละ 26.5 กลุ่มที่ 4 มี 1,099 คน ร้อยละ 68.4 ความชุกของ advanced neoplasia และมะเร็งลำไส้ใหญ่ใน 4 กลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) โดยพบว่า กลุ่มที่ 1 FIT บวกและ high risk มีความชุก advanced neoplasia สูงที่สุด ร้อยละ 37.9 ความชุกมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงที่สุด ร้อยละ 27.6 เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ 4 FIT ลบและ average risk พบว่า กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่ 2 และกลุ่มที่ 3 มีความเสี่ยงต่อการตรวจพบ advanced neoplasia เพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า (RR, 6.04; 95% CI 3.60 – 10.15), 4.5 เท่า (RR, 4.51; 95% CI 2.77 – 7.33) และ 1.8 เท่า (RR, 1.80; 95% CI 1.27 – 2.56) ตามลาดับ
สรุปผลการศึกษา การตรวจ FIT โดยใช้จุดตัดที่ 150 ng/mlเป็นจุดตัดที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคัดกรอง advanced neoplasia และมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศไทย หากทำการคัดกรองจำนวน 62 คนจะวินิจฉัย advanced neoplasia ได้ 1 คน และ คัดกรองจำนวน 124 คนจะวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ 1 คน การใช้การประเมินทางคลินิก APCS score ร่วมกับ FIT ช่วยคัดเลือกอาสาสมัครกลุ่มเสี่ยงต่อการตรวจพบ advanced neoplasia และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เพื่อช่วยจัดลำดับคนที่มีความเสี่ยงสูงเข้ารับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ อาสาสมัครกลุ่มเสี่ยงสูงและมีผล FIT เป็นบวกควรได้รับการตรวจส่องกล้องลำไส้ใหญ่เป็นกลุ่มแรกก่อน