บทคัดย่อ
‘การไม่เข้าถึงยาจำเป็น’ ของผู้ป่วยยังเป็นปัญหาสำคัญในระบบสาธารณสุขไทย กว่าสิบปีที่ผ่านมาจึงมีความพยายามจากหลายภาคส่วน อาทิ นักวิชาการและภาคประชาสังคมที่ร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย/กฎระเบียบ/หรือข้อเสนอต่อการดำเนินงานของภาครัฐ เพื่อลดอุปสรรคในการเข้าถึงยาของประชาชนไทย การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) เพื่อพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อนโยบายรัฐในประเด็นการส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงยาจำเป็น โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะเพื่อ 1) วิเคราะห์และสังเคราะห์บทเรียนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในการสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหาและอุปสรรคของการขับเคลื่อน และกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน 2) เปรียบเทียบบทเรียนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมในประเทศไทยและในต่างประเทศในประเด็นการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ 3) วิเคราะห์หาเป้าหมาย แนวทาง รูปแบบ และกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมต่อนโยบายรัฐเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยา และ 4) เพื่อศึกษาความร่วมมือของภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาครัฐในการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงยาของประชาชนและสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบาย ทาการศึกษาโดยการวิจัยเอกสาร (documentary research) เพื่อสังเคราะห์บทเรียนการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ การสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชนจำนวน 16 ท่าน และการสนทนากลุ่ม (focus group discussion) ของนักวิชาการ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันเสนอแนวทาง รูปแบบ และกลไกการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมในการสนับสนุนการเข้าถึงยาของประชาชนไทย