บทคัดย่อ
โครงการเรียนรู้อยู่กับภัยพิบัติ: นิเวศวัฒนธรรม สื่อ รัฐ กับพลวัตชุมชน (ปีที่2) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์และปฏิกิริยาของชุมชนที่มีต่อภัยพิบัติ ทั้งก่อน ระหว่างและหลังการเกิดภัยพิบัติในบริบทนิเวศวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกัน เพื่อเปรียบเทียบแบบแผน ลักษณะ เงื่อนไขและผลที่เกิดตามมาต่อการรับมือกับภัยพิบัติและวิเคราะห์ประเมินกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์รับมือภัยพิบัติของชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติ รวมทั้งการเรียนรู้ที่เกิดจากสื่อ มาตรการของรัฐและการทำงานกับองค์กรภายนอก การศึกษานี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาข้อเสนอและรูปแบบ (Model) การเสริมศักยภาพชุมชนในการจัดการภัยพิบัติจากบทเรียนและประสบการณ์ชุมชนเองกับการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อนของมาตรการเสริมศักยภาพชุมชนที่ดำเนินการโดยองค์กรต่างๆ จากภายนอก โดยดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 ถึงเดือนมีนาคม 2561 การวิจัยในปีที่ 2 นี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากการศึกษาในระยะแรกที่เน้นการศึกษาประสบการณ์ชุมชนในด้านอุทกภัย โดยได้ขยายไปศึกษาเพื่อเปรียบเทียบประสบการณ์ของชุมชนในภัยพิบัติหลายประเภทขึ้น ได้แก่ ไฟป่า ภัยแล้ง ดินโคลนถล่มและแผ่นดินไหว โดยเน้นการศึกษาเชิงคุณภาพโดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) การสนทนากลุ่ม (Focused group) และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน โดยในกระบวนการวิจัยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยเปิดพื้นที่ให้ผู้นำและสมาชิกชุมชนร่วมค้นหาและสะท้อนประสบการณ์การเผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในบริบทนิเวศวัฒนธรรมชุมชน ทั้งจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ ปฏิกิริยาการรับมือของชุมชนท้องถิ่น ศักยภาพและทุนทางสังคมต่อการรับมือภัยพิบัติ เพื่อนำมาพัฒนาฐานข้อมูลนิเวศวัฒนธรรมชุมชน (Community Cultural Ecology Profile) และวิเคราะห์รูปแบบการจัดการภัยพิบัติพื้นที่กรณีศึกษา ซึ่งการศึกษาวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างนักวิจัยจากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุขและนักวิชาการจากสถาบันการศึกษา ร่วมกับนักวิจัยท้องถิ่นในชุมชน ที่ร่วมศึกษาเรียนรู้ทั้งในการทบทวนวรรณกรรม การวิจัยภาคสนามและการพัฒนาประเด็นวิชาการเพิ่มเติมเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านภัยพิบัติศึกษา (Disaster study) เชื่อมโยงไปสู่ประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate change) มุมมองสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) ซึ่งทำให้ประเด็นด้านนิเวศวัฒนธรรมของภัยพิบัติขยายไปกว้างกว่าการมองเฉพาะผลกระทบต่อมนุษย์เท่านั้น การเชื่อมโยงไปสู่ประเด็นที่กว้างขึ้นทำให้เห็นผลกระทบต่อพืชพันธุ์และสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบนิเวศ นอกจากนั้น การทบทวนประวัติศาสตร์ภัยพิบัติและการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่สัมพันธ์กับภัยพิบัติน้ำท่วมเป็นตัวอย่างของการขยายมุมมองความสัมพันธ์เรื่องภัยพิบัติไปสู่ประเด็นการพัฒนาพืชเศรษฐกิจ เป็นต้น