บทคัดย่อ
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาการใช้ระบบสนับสนุนช่วยเหลือสุขภาพจิตโรงเรียนที่จัดตั้งโดยกระทรวงศึกษาธิการ 2) ทราบขนาดปัญหาการเรียนและปัญหาสุขภาพจิตในเด็กนักเรียนประถมศึกษาตอนต้นจากการคัดกรอง และ 3) ประเมินประสิทธิผลโปรแกรมจิตวิทยาเชิงบวกต่อสุขภาพจิต ผลการศึกษาพบว่า 1) ระบบการสนับสนุนช่วยเหลือสุขภาพจิตโรงเรียนมีในระดับมัธยมศึกษาและยังมีไม่ครบทุกโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมการแนะแนวการศึกษาเข้าเรียนต่อและดูแลนักเรียนที่มีปัญหารุนแรง (เชิงรับ) มากกว่าการส่งเสริมป้องกัน (เชิงรุก) ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องยังมีไม่เพียงพอและมีภารกิจการเรียนการสอนมาก ทำให้ไม่อาจทำงานด้านสุขภาพจิตได้เต็มที่และยังขาดความรู้ ความเข้าใจในการดูแลเด็กทั้งการส่งเสริม ป้องกันและการดูแลเมื่อมีปัญหาแล้ว 2) ปัญหาสุขภาพจิตและปัญหาการเรียนในนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนต้น ได้แก่ ผู้ปกครองรายงานปัญหาจากการคำถามคัดกรอง DSM-5 ร้อยละ 18.3 ก่อนเข้าเรียนอนุบาลเพิ่มเป็นร้อยละ 41.9 เมื่อเข้าเรียนอนุบาลแล้ว ส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านชีวภาพ เช่น พัฒนาการการเรียนรู้ล่าช้า พบนักเรียนร้อยละ 25 มี GPA น้อยกว่า 2.50 ผู้ปกครองและครูรายงานปัญหาสุขภาพจิตด้านใดด้านหนึ่งสูงถึงร้อยละ 32 โดยเฉพาะปัญหาการใช้สื่อเทคโนโลยี โดยพบว่านักเรียนใช้เวลากับสื่อเทคโนโลยีระหว่างวันจันทร์-ศุกร์ เฉลี่ยวันละ 3.5±3.1 ช.ม. และวันอาทิตย์-เสาร์ เฉลี่ยวันละ 6.2±4.1 ช.ม. มีปัญหาเริ่มติดการใช้โทรศัพท์หรือติดแล้วร้อยละ 25.4 ทั้งนี้ทั้งผู้ปกครองและครูยังไม่ทราบวิธีการดูแลที่เหมาะสม และ 3) โปรแกรมจิตวิทยาเชิงบวกส่งผลดีต่อความรู้สึกเกี่ยวกับตนเองและเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยเฉพาะกลุ่มที่มี GPA <2.50 เนื่องจากผลการศึกษาบ่งชี้ว่าปัญหาสุขภาพจิตในนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 มีระดับสูง ควรมีการแทรกแซงที่เหมาะสมตามวัยอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อลดปัญหานี้ โครงการจึงได้นำเสนอผลงานวิจัยและหารือถึงแนวทางดำเนินงานเพื่อลดปัญหาและส่งเสริมสุขภาพจิตในเด็กกับหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนที่ร่วมโครงการ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสงขลา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอำเภอหาดใหญ่ บัณฑิตอาสาและจัดเวทีสาธารณะสำหรับประชาชนทั่วไป พบว่าผู้ปกครอง ครู ชุมชนและองค์กรต่างๆ มีความเป็นห่วงและเห็นควรให้มีการดำเนินการเพื่อลดปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจว่าควรทำอย่างไร โครงการได้จัดทำสื่อโปสเตอร์และบันทึกการบรรยายเป็นวิดีโอเผยแพร่ทางสาธารณะ เพื่อให้ความรู้ในการดูแลเด็กและเยาวชนตามปัญหาที่เป็นข้อค้นพบจากงานวิจัยและโครงการมีความต้องการการสนับสนุนจากงบประมาณที่คงเหลือของโครงการ จัดทำเป็นหนังสือสำหรับครู ผู้ปกครองและผู้ทำงานด้านเด็กและเยาวชนต่อไป