บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ความรอบรู้ด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้พิการทางการเห็น ที่อาศัยในพื้นที่ที่มีการระบาดแตกต่างกัน โดยในช่วงมิถุนายน 2564 พื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้แก่ สมุทรสาคร นครปฐม ยะลา และพื้นที่เฝ้าระวังสูง ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ นครราชสีมา ดำเนินการเก็บข้อมูลระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง สิงหาคม 2564 โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและนักศึกษาที่ผ่านการอบรมกระบวนการเก็บข้อมูล การสุ่มตัวอย่างแบบ Cluster Sampling โดย Cluster ได้แก่ พื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ซึ่งเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยในคลินิกโรคเบาหวานและชมรมผู้สูงอายุที่ รพ.สต เหล่านั้นรับผิดชอบ ส่วนผู้พิการทางการเห็น คัดเลือกตัวอย่างจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยและเครือข่ายสมาคมประจำจังหวัด ได้ตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 1,024 คน แบ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 336 คน ผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 329 คน และผู้พิการทางการเห็น จำนวน 359 คน สรุปผลการวิจัย ในพื้นที่ที่มีการระบาดแตกต่างกัน ผลการวิจัย พบว่า 1. สถานะความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 ของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่มอยู่ระดับ 19.6 % ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพประชาชนของกรมอนามัย ในภาพรวมตามประเด็นความรอบรู้ด้านสุขภาพในมิติการส่งเสริม ป้องกันโรค กำหนดโดยกระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี 2563 แต่เมื่อพิจารณาแยกเป็นรายมิติ สถานะความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องการป้องกันโรคโควิด-19 ของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 3 กลุ่ม ยังอยู่ในระดับต่ำ การเข้าถึง เข้าใจ ซักถาม ตัดสินใจ ปฏิบัติและบอกต่ออยู่ในระดับต่ำ ยกเว้นการปฏิบัติเมื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติของกลุ่มตัวอย่างระหว่างพื้นที่ควบคุมและพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด พบว่า ทุกมิติยกเว้นการปฏิบัติในพื้นที่เฝ้าระวังมีผลการดำเนินการดีกว่าพื้นที่ควบคุมเล็กน้อยและการปฏิบัติเป็นมิติเดียวที่มีคะแนนเฉลี่ยสูง ทั้ง 2 พื้นที่ และเมื่อเปรียบเทียบรายกลุ่ม พบว่า พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด มีผลการดำเนินงานในทุกมิติดีกว่าพื้นที่ควบคุมเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการปฏิบัติตามมาตรการรัฐบาลของประเทศไทยในภาพรวม คือ ร้อยละ 68 สำหรับการเว้นระยะห่างทางสังคมด้านกายภาพปฏิบัติได้ร้อยละ 65 และการเว้นระยะด้วยการหลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่แออัด ทำได้ร้อยละ 80 ใช้หน้ากากอนามัย ร้อยละ 94 และร้อยละ 77.1 ใช้เจลล้างมือ ซึ่งต่ำกว่าผลการวิจัยของ Pan-ngum W45 และคณะ ที่สำรวจประชาชนทั่วไปในเดือน พฤษภาคม 2563 พบว่า มีการทำตามมาตรการของรัฐบาลคิดเป็น ร้อยละ 92 เว้นระยะห่างทางสังคม ร้อยละ 94 ใช้หน้ากากอนามัย ร้อยละ 97 และร้อยละ 95 ใช้เจลล้างมือ 2. ปัจจัยด้านคุณลักษณะของคนที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 การสำรวจในครั้งนี้บ่งชี้ ผู้ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพระดับดีเป็นผู้ที่มีความสามารถอ่านออกเขียนได้ มีความสามารถในการเห็นได้ดี มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการเข้าถึง เข้าใจ ตัดสินใจ ปฏิบัติ ที่ทำให้ตนเองปลอดภัยและบอกต่อ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้สูงอายุของไทย โดย Nilnate W และคณะ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพคือ การศึกษา การอ่านออกเขียนได้ การมองเห็นและอาชีพ นอกจากนี้ การวิจัยครั้งนี้ยังมีผลยืนยันว่าผู้ที่มีบทบาททางสังคมมีโอกาสเป็นผู้มีความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องป้องกันโรคโควิด-19 ได้สูงกว่าผู้ไม่มีบทบาททางสังคม 3. ข้อค้นพบใหม่ในกระบวนการพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพของการสำรวจครั้งนี้ ที่เน้นการมีผลลัพธ์การป้องกันตนเองได้ดีไม่ติดเชื้อของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า 3.1 ผู้ที่มีความรอบรู้นอกจากมีทักษะการเข้าถึง เข้าใจ มีการโต้ตอบ ซักถามและปฏิบัติตนจนปลอดภัย สามารถบอกต่อผู้อื่นได้ ยังต้องมีทักษะการติดตามข้อมูลเป็นระยะอีกด้วย เมื่อวิเคราะห์คุณลักษณะคนกลุ่มนี้ พบว่า ส่วนใหญ่มีบทบาททางสังคม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ Abel ที่เสนอว่า ความรอบรู้ที่จะทำให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ต้องเป็นความรอบรู้ในระดับ Critical Literacy 3.2 การปฏิบัติที่มีผลต่อสุขภาพ เกิดความปลอดภัยจากการติดเชื้อได้ แม้จะมีความรอบรู้ระดับจำกัด ไม่มีการซักถาม โต้ตอบ ติดตามแต่มีการปฏิบัติ (Functional Health Literacy) ซึ่งอธิบายได้ว่าเกิดจากสภาวะแวดล้อมทางสังคม การจัดการปัจจัยแวดล้อม ด้านกายภาพของทุกภาคส่วนในสังคม การมีเครื่องมือ อุปกรณ์ป้องกัน การตรวจคัดกรอง ทำให้มิติการปฏิบัติตามมีคะแนนสูงได้ในช่วงที่มีการระบาดหนักหรือมาตรการควบคุมโรคที่จริงจัง