บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการประเมินระดับความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของประชาชนไทย (Rational Drug Use Literacy, RDUL) แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การพัฒนาเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (RDUL tool) และระยะที่ 2 การหาความตรงของเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในประชาชนไทย ระยะที่ 1 ประกอบด้วยกิจกรรม 6 ขั้นตอน ได้แก่ (1) การทบทวนวรรณกรรมด้วยวิธี scoping review (2) การสร้างร่างเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ฉบับที่ 1 จากผลการทบทวนวรรณกรรมในขั้นตอนที่ 1 (3) การสนทนากลุ่ม (focus group interview) ในกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังประจำตัวและประชาชนทั่วไป ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสงขลาและจังหวัดกรุงเทพฯ กลุ่มละ 10 คน คละชาย หญิง รวม 30 คน ด้วยเครื่องมือฯ ฉบับที่ 1 วิเคราะห์ผลการสนทนากลุ่ม ปรับปรุงและแก้ไข พัฒนาเป็นเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ฉบับที่ 2 (4) การตรวจสอบความถูกต้องเชิงเนื้อหา (content validity) โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ด้วยเครื่องมือฯ ฉบับที่ 2 หลังจากนั้น ปรับปรุงและแก้ไข พัฒนาเป็นเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ฉบับที่ 3 (5) การสัมภาษณ์ทางปัญญา(cognitive interview) ด้วยเครื่องมือฯ ฉบับที่ 3 วิเคราะห์ผลดำเนินการสัมภาษณ์ ปรับปรุงและแก้ไข พัฒนาเป็นเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ฉบับที่ 4 และ (6) การสำรวจเบื้องต้น (pre-test) นำเครื่องมือฯ ฉบับที่ 4 ไปเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 3 กลุ่ม (นักเรียน ม.3 ประชาชนทั่วไปและผู้ป่วยนอกที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว) คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายจากประชาชนในจังหวัด 4 จังหวัด คือ กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่นและสงขลา กลุ่มละ 30 คน รวม 90 คน หลังจากวิเคราะห์ผล มีการปรับปรุงและแก้ไข พัฒนาเป็นเครื่องมือวัดความรอบรู้ด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ฉบับที่ 5 ประกอบด้วย 7 ตอน จำนวน 58 ข้อ สำหรับนำไปใช้ในระยะที่ 2 ของการวิจัยระยะที่ 2 เป็นการหาความตรงของเครื่องมือวัดฯ ฉบับที่ 5 โดยการเทียบกับเครื่องมือมาตรฐาน (gold standard) 2 ฉบับ คือ 1) แบบสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป (Thailand Health Literacy Scales: HLS) พัฒนาโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และ 2) เครื่องมือวัดความแตกฉานด้านสุขภาพของคนไทย ที่อิงการวัดความสามารถในการใช้ฉลากโภชนาการ (Thai Health Literacy Assessment Instrument: Nutrition label: THLA-N) พัฒนาโดย สงวน ลือเกียรติบัณฑิตและคณะ โดยทำการสำรวจในกลุ่มตัวอย่าง 761 คน ด้วยเครื่องมือทั้ง 3 ฉบับ มีการสุ่มอย่างเป็นระบบทั่วประเทศ แบ่งชั้นตามลักษณะ: เขตเมือง การมีโรคเรื้อรังประจำตัว เพศ อายุและระดับการศึกษาสูงสุด และทำการวิเคราะห์ความตรงสู่สมบูรณ์ (convergent validity) และจุดตัดคะแนน (cut-off point) เพื่อแปลความหมายคะแนนของ RDUL tool ด้วยเทคนิคโค้ง (Receiver Operating Characteristics: ROC)