บทคัดย่อ
รายงานฉบับสมบูรณ์นี้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 ในเขตพื้นที่ที่มีพรมแดนรอยต่อติดกับประเทศลาวและกัมพูชา ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดศรีสะเกษ ในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 โดยข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ประกอบด้วยข้อมูล 5 ส่วน ดังนี้ 1. สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดอุบลราชธานี 2. การบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ของผู้บริหารทุกระดับ 3. ข้อมูลพื้นฐานการเดินทางและสุขภาพของผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ 4. ความรอบรู้ทางสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เขตสุขภาพที่ 10: กรณีศึกษาพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา และการยกระดับความรู้ด้านสุขภาพสู่การพัฒนาการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว-กัมพูชา เขตสุขภาพที่ 10 และ 5. การบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงเวลาของการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 ผลการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี สอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ กล่าวคือ การระบาดในพื้นที่รุนแรงในช่วงระลอก 2 และ 3 (ช่วงเดือนเมษายน-กันยายน 2563) ซึ่งมีการแพร่กระจายของเชื้อในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ (ระลอก 2) และแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนา (ระลอก 3) ยอดสะสมตั้งแต่ระลอก 1 ถึง 4 มีผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 23,369 คน คิดเป็นอัตราป่วย 12,506 ต่อประชากรหนึ่งล้านคน อายุเฉลี่ยของกลุ่มที่ติดเชื้ออยู่ที่ 30-39 ปี (ร้อยละ 22.5) เชื้อโควิดที่ระบาดในระลอก 3 และระลอก 4 ส่วนใหญ่ คือ สายพันธุ์อัลฟ่าและเดลต้า ส่วนระลอก 5 (ปัจจุบัน) เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนอัตราป่วยตาย (CFR) มากที่สุดอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุ (ร้อยละ 3.89) ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน เข็ม 1 และ 2 ตามเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งไว้ (เกินร้อยละ 80) ส่วนเข็ม 3 (booster) ยังต่ำกว่าเป้าหมาย (ร้อยละ 21) และเป็นสูตรไขว้ตามที่กระทรวงฯ กำหนดไว้ ในส่วนของมุมมองของผู้บริหารแต่ละระดับที่นำนโยบายจากส่วนกลางมาปฏิบัติตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงตำบล พบว่า ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่านโยบายที่ได้รับมาสามารถนำไปปฏิบัติในพื้นที่ได้ผ่านผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับ ปัจจัยร่วมแห่งความสำเร็จในการบริหารจัดการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด–19 ได้แก่ ภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีม การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ส่วนข้อจำกัดที่ผู้บริหารโดยเฉพาะในระดับอำเภอและตำบล ระบุว่าการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่สถานการณ์ค่อนข้างวิกฤต หรืองบป้องกันสาธารณภัย (ปภ) นั้น มีขั้นตอนและเอกสารที่ต้องดำเนินการค่อนข้างมาก ทำให้เกิดความล่าช้าในการนำงบประมาณไปใช้ในการดำเนินงาน ซึ่งทางผู้บริหารได้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรมีการปรับขั้นตอน เงื่อนไขการเบิกจ่ายงบประมาณให้กระชับ รวดเร็ว หากจำเป็นต้องนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้ในการระบาดระลอกถัดไป ข้อมูลพื้นฐานการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและศรีสะเกษ พบว่า ในช่วงการระบาดระลอก 2 และ 3 มีการสั่งปิดประเทศชั่วคราว เนื่องจากกลุ่มที่แพร่เชื้อส่วนใหญ่คือ แรงงานข้ามชาติและแรงงานกลับภูมิลำเนา อย่างไรก็ตาม จุดตรวจผ่านแดนช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และจุดตรวจผ่านแดนช่องสะงา จังหวัดศรีสะเกษ มีข้อกำหนดให้คนบางประเภทได้รับการยกเว้น สามารถเดินทางเข้าออกประเทศได้ ซึ่งจากการสำรวจ พบว่า คนที่เดินทางเข้า-ออกประเทศในเวลานั้น ส่วนใหญ่เป็นคนขนส่งสินค้าเข้า-ออกประเทศไทย ทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติ (n = 130 คน) ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขาย (ร้อยละ 57) พื้นที่ต้นทางของคนที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทย มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่อนข้างมาก (ร้อยละ 84) สินค้าที่ขนส่งเข้า-ออกประเทศ ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันดิบ ผักผลไม้ (ร้อยละ 60) ที่สำคัญพบว่า คนที่เดินทางเข้า-ออกได้รับวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ทั้งหมด (ร้อยละ 99.2) แต่เข็ม 3 (booster) ยังไม่มาก ข้อจำกัดที่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเร่งด่วนคือ ณ เวลานั้น การเดินทางเข้า-ออกที่เกินระยะเวลาที่ภาครัฐกำหนด (ไม่เกิน 72 ชั่วโมง) ซึ่งทำให้คนขนส่งสินค้าตกค้างในพื้นที่ อาจเสี่ยงต่อการได้รับและแพร่กระจายเชื้อเมื่อเดินทางกลับประเทศต้นทาง รวมถึงผลตรวจ Antigen Test Kit (ATK) / Real-Time PCR (RT-PCR) ก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมง ในผู้เดินทางหลายรายที่ไม่มีผลยืนยัน และข้อจำกัดเรื่องที่พักชั่วคราวกรณีคนขนส่งสินค้าเดินทางกลับประเทศต้นทางไม่ทัน อาจเนื่องจากขนถ่ายสินค้าไม่เสร็จ หรือตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวก จำเป็นต้องกักตัวเพื่อดูอาการ ซึ่งประเด็นข้อจำกัดและแนวทางการแก้ไขได้ส่งกลับให้กับผู้บริหารด่านตรวจ บางข้อจำกัดได้รับการแก้ไขจากนโยบายภาครัฐที่เตรียมเปิดประเทศและมีการวางมาตรการผ่อนปรน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้เดินทางเข้า-ออกประเทศ เพื่อติดตามอย่างต่อเนื่องหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ ด้านความตระหนักรู้ทางสุขภาพ (health literacy) ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ แรงงานกลับภูมิลำเนาเดิม ประชาชนทั่วไปและบุคลากรสาธารณสุข พบว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่พอใจในระบบบริการสุขภาพและวัคซีนของไทย ซึ่งตรงข้ามกับแรงงานไทยและประชาชนทั่วไปที่ยังไม่ค่อยมั่นใจใน 2 ประเด็นดังกล่าว ที่เหมือนกันในทุกกลุ่มคือ การปฏิบัติตามมาตรการ D-M-H-T-T ซึ่งทำได้ยากเนื่องจากวัฒนธรรมการดำรงชีวิตตามวิถีคนอีสาน อย่างไรก็ตาม หลังจากปรับมาตรการเชิงรุกลงพื้นที่ ให้บริการวัคซีนและความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัคซีน การหาที่พักชั่วคราวทั้ง Home Isolation (HI), Community Isolation (CI) ทำให้เมื่อสำรวจข้อมูลวัคซีนอีกครั้ง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนคติเกี่ยวกับวัคซีนดีขึ้น เชื่อมั่นในวัคซีนมากขึ้น และรับการฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 และ 2 เป็นไปตามเป้าหมายที่ภาครัฐกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม เข็ม 3 และ 4 (boosters) ยังไม่ถึงเป้าหมาย ทั้งนี้ ได้มีการนำเครื่องมือที่เรียกว่า “ธรรมนูญสุขภาพต้านภัยโควิด” มาใช้ในการสื่อสารของคนในพื้นที่ ให้เกิดความเข้าใจร่วมกันและเห็นพ้องในการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเครื่องมือนี้จะออกแบบโดยคนในพื้นที่ร่วมกันวางแผนและทุกคนในพื้นที่เห็นชอบร่วมกันที่นำมาตรการที่ตนเองวางแผนไปปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้คนในพื้นที่เต็มใจที่จะปฏิบัติตามแนวทางที่ชุมชนกำหนด โดยหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่ให้การสนับสนุน และติดตามประเมินผลลัพธ์ เพื่อนำข้อมูลที่ทำให้เกิดความสำเร็จไปขยายผลยังพื้นที่อื่นต่อไป พร้อมรายงานให้ผู้บริหารทราบเป็นระยะๆ ซึ่งเครื่องมือที่นำมาใช้ในช่วงที่มีการระบาดมีหลากหลายรูปแบบ ขึ้นกับบริบทของคนในพื้นที่ ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะติดตามผลการดำเนินงานธรรมนูญสุขภาพต้านภัยโควิดหลังเสร็จสิ้นโครงการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดต่อไป โดยสรุป ทีมวิจัยได้จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินโครงการ เพื่อให้ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ผู้แทนภาคประชาสังคมและภาคเอกชน รับทราบผลการดำเนินงาน เพื่อนำไปปรับใช้ในเชิงนโยบายสำหรับการเตรียมความพร้อมในการระบาดระลอกถัดไปหรือหากมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น