บทคัดย่อ
การดื้อยาต้านจุลชีพ (antimicrobial resistance: AMR) เป็นปัญหาระดับโลก เชื้อสามารถสร้างกลไกที่ทำให้เกิดดื้อต่อยาและแพร่กระจายต่อไปได้เป็นวงกว้าง นอกจากนี้เชื้อดื้อยายังสามารถถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมดื้อยาไปสู่เชื้อสายพันธุ์อื่นๆ ก่อให้เกิดปัญหาการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มีความรุนแรงยิ่งขึ้นได้ บริษัทผู้พัฒนาและผลิตยาปฏิชีวนะหรือยาต้านจุลชีพยังไม่สามารถพัฒนายาชนิดใหม่ได้ทันกับสภาวะดื้อยาที่เกิดขึ้น ดังนั้น ผู้ติดเชื้อที่ดื้อต่อยารักษาที่มีอยู่จึงมีโอกาสที่จะรักษาหายลดลง เชื้อดื้อยาบางชนิดยังไม่มียารักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดีเพียงพอ ผู้ติดเชื้อจึงมีโอกาสพิการหรือเสียชีวิตได้ ส่งผลให้ใช้เวลาในการรักษามากขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพประเทศไทย พ.ศ. 2560-2564 โดยคณะกรรมการนโยบายการดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 มีมติเห็นชอบแนวทางระดับนโยบายต่อการจัดการเชื้อดื้อยาในสถานพยาบาลและกรอบการทำงานระดับโรงพยาบาล กรอบการประสานงานระดับประเทศเพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในโรงพยาบาลอย่างบูรณาการ (integrated AMR management in hospital: IAM) และขับเคลื่อน IAM ในโรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดกระทรวง รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 ว่าด้วยการป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในสถานพยาบาลและควบคุมกำกับดูแลการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างเหมาะสม กรมการแพทย์ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย อาทิ กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชน ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาคู่มือการประเมินการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการในโรงพยาบาล” โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแผนงานภายใต้ยุทธศาสตร์ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านการดื้อยาต้านจุลชีพและกรมการแพทย์ ในการพัฒนาแนวทางการประเมินศักยภาพการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพอย่างบูรณาการ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญหนึ่งของการนำกรอบ IAM สู่การปฏิบัติให้เกิดมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อบรรลุผลลัพธ์ต่อการลดอัตราป่วยและ/หรือเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยา ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ เป้าประสงค์ (Goals) ของแผนยุทธศาสตร์ฯ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน