บทคัดย่อ
โครงการวิจัยนี้เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อทดลองรูปแบบการจัดบริการทันตกรรมรัฐร่วมเอกชน โดยประสานความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ใช้งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมสุขภาพระดับพื้นที่มาซื้อบริการทันตกรรมป้องกันจากคลินิกทันตกรรมเอกชนในพื้นที่ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมของประชากรกลุ่มเด็กอายุ 3-6 ปีในพื้นที่ศึกษา เป็นการขยายความครอบคลุมของการให้บริการจากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข จากข้อมูลของพื้นที่ศึกษา ก่อนการดำเนินโครงการวิจัยเดิมหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่สามารถให้บริการทางทันตกรรม ได้แก่ ตรวจฟัน และเคลือบฟลูออไรด์ ให้แก่ประชากรเด็กอายุ 0-5 ปี ได้ประมาณร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรเด็ก 0-5 ปี ทั้งหมด (ข้อมูลปี พ.ศ. 2562-2563) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงข้อจำกัดของศักยภาพของหน่วยบริการภาครัฐในพื้นที่ ที่มีทรัพยากรจำกัดและต้องดูแลประชาชนทุกกลุ่มอายุ ประกอบกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี พ.ศ. 2564 ที่ทำให้การให้บริการทางทันตกรรมของหน่วยบริการทันตกรรมปฐมภูมิในพื้นที่หยุดชะงักลง ส่งผลให้การเข้าถึงบริการทางทันตกรรมของกลุ่มเด็กก่อนวัยเรียนลดลงอย่างมาก ข้อมูลจากแบบสอบถามระบุว่า ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีเด็กก่อนวัยเรียนที่มีความจำเป็นด้านสุขภาพช่องปากที่ไม่ได้รับการตอบสนองถึงร้อยละ 19.4 ผลของการดำเนินโครงการแสดงให้เห็นถึงโอกาสในการใช้ทรัพยากรด้านทันตสาธารณสุขในพื้นที่ในการดูแลทันตสุขภาพของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยประสานความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานบริการทางทันตกรรมเอกชน รวมถึงผู้นำชุมชนและสถานศึกษาในพื้นที่ เมื่อเกิดเครือข่ายความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ จะช่วยให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชนได้ครอบคลุมมากขึ้น ผลของการศึกษาครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานโยบายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชากรกลุ่มเด็กในเขตเมือง 4 ประเด็น คือ 1. การดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการทางทันตกรรม โดยใช้งบประมาณจากกองทุนส่งเสริมสุขภาพระดับพื้นที่ 2. การเพิ่มการเข้าถึงบริการของเด็กในเขตเมืองด้วยการจัดบริการทันตกรรมรัฐร่วมเอกชน 3. การใช้ระบบข้อมูลดิจิทัลในการบริหารระบบบริการสุขภาพช่องปาก และ 4. การบริหารระบบสุขภาพช่องปากในระดับพื้นที่ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเด็กในเขตเมือง การพัฒนารูปแบบการจัดบริการแบบใหม่ โดยประสานความร่วมมือจากองค์กรปกครองในพื้นที่ และใช้งบประมาณจากแหล่งใหม่ๆ เป็นโอกาสและความท้าทายของประเทศไทย โดยเฉพาะในบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่จะมีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของกำลังคนทันตแพทย์ในภาคเอกชนในสถานการณ์ที่กระทรวงสาธารณสุขจำกัดจำนวนการรับทันตแพทย์ใช้ทุนในปัจจุบัน การจัดบริการทันตกรรม โดยประสานความร่วมมือของภาคสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถานบริการทันตกรรมเอกชน เป็นรูปแบบที่มีศักยภาพในการพัฒนาระบบบริการทันตกรรมในพื้นที่ที่ควรสนับสนุน โดยควรสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมมีบทบาท ดังนี้ กระทรวงมหาดไทย/กระทรวงการคลัง สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขยายบทบาทในการดูแลด้านสาธารณสุขของพื้นที่ แก้ไขระเบียบให้เอื้อต่อการดำเนินโครงการด้านสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สนับสนุนให้คำปรึกษาในด้านระเบียบขั้นตอนการใช้เงินกองทุนฯ รวมถึงสนับสนุนการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด พัฒนาบทบาทในการกำหนดทิศทางนโยบาย ตัวชี้วัดบริการสุขภาพช่องปาก การประสานงานและการบริหารระบบ สนับสนุนทางวิชาการ ทันตแพทยสภา สนับสนุนทางวิชาการ กำหนดมาตรฐานงานทันตกรรมป้องกัน สนับสนุนในการผลักดันและการขับเคลื่อนนโยบาย สำนักทันตสาธารณสุข/ทันตแพทย์ทั่วไป สร้างความตระหนักและความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของประชาชน
บทคัดย่อ
The objective of this research project is to experiment with a public-private partnership model for dental services. Local government organizations coordinate with the area-level health promotion fund to purchase preventive dental care services from private dental clinics to increase access to dental services for children aged 3-6 years in the education area. This is to expand the coverage of dental services provided by the Ministry of Public Health agencies. Prior to the research project, according to the education area data, primary care units in the area were able to provide dental services such as dental check-ups and fluoride varnish to approximately 50% of the population of children aged 0-5 years. This indicates the limitations of the capacity of state agencies in areas with limited resources and the need to care for all age groups, in addition to the COVID-19 pandemic situation in 2021 which halted the provision of dental services from primary care dental units in the area and resulted in a significant decrease in access to dental services for children before school age. Data from a survey showed that during the COVID-19 pandemic, there were children before school age who needed oral health care but did not receive it. The results of the project show opportunities to use dental health resources in the area more efficiently to better care for the dental health of the population. The public-private partnership model can be a way to increase access to dental services for children. The cooperation of various organizations, including local government organizations and private dental clinics, is an important factor in the success of the project. The results of this study have interesting and beneficial issues for the development of policies to improve access to dental services for children in urban areas. There are four main issues: (1) The involvement of local government organizations in providing dental services using budget from the local health promotion fund. (2) Increasing the dental care access for children in urban area via PPP model (3) Using digital information systems for managing oral health services (4) Management of oral health systems at the regional level. Policy notes: To increase access to dental services for the public, especially children in urban areas, developing new service models by coordinating cooperation from local government organizations and utilizing budgets from new sources is an opportunity and challenge for Thailand, particularly in the context of decentralization and the increasing number of private dentists in a situation where the Ministry of Public Health limits funding for dental services. Coordination of dental services by the public health sector, local government organizations, and private dental service providers is a potential model for developing the dental service system in areas that should be supported. This support should involve various relevant sectors as follows: Ministry of Interior/ Ministry of Finance, supporting local government organizations to expand their role in healthcare in the area, amending regulations to facilitate health-related projects. National Health Security Office, providing consultation on the process of using the health fund and supporting the connection of health data. Provincial Health Office, developing the role in policy direction, service performance indicators, coordination, and system management, and supporting academic activities. Dental Council, supporting academic activities, setting standards for preventive dentistry, supporting policy promotion and implementation. The Department of Dental Public Health/General Dentists, supporting raise awareness and knowledge among the public about oral health to develop the behavior of taking care of their oral health.