บทคัดย่อ
แนวทางการประเมินผลตัวชี้วัดเพื่อติดตามและประเมินผลประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล จัดทำขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องการพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อติดตามและประเมินผลประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ปี พ.ศ. 2564-2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อติดตามและประเมินผลประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยหาแนวทางการประมวลผลจากข้อมูลในฐานข้อมูลขนาดใหญ่และกำหนดโครงสร้างข้อมูลในการประมวลผลตัวชี้วัดดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานหรือคณะกรรมการที่รับผิดชอบในการติดตามและประเมินผลนโยบายและการดำเนินการพัฒนาสู่ประเทศใช้ยาอย่างสมเหตุผลเป็นแนวทางในการใช้ติดตามและประเมินผลด้วยตัวชี้วัดดังกล่าวต่อไป ตัวชี้วัด RDU Country (RDU Country Indicators, RDUCI) 24 ตัวชี้วัดพัฒนาขึ้นจากหลักการนโยบายการพัฒนาประเทศสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุผล ตามประเด็นสำคัญตามยุทธศาสตร์การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สถานการณ์และทิศทางการใช้ยาอย่างสมเหตุผลของประเทศไทย และกรอบแนวทางการติดตามและประเมินความเข้มแข็งของระบบยา ประกอบด้วย ตัวชี้วัดด้านโครงสร้างระบบยาเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล สถานพยาบาลมีคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผลในโรงพยาบาล มีการจัดการศึกษาต่อเนื่องด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผลสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ การมีจังหวัดผ่านเกณฑ์การพัฒนาสู่จังหวัดใช้ยาอย่างสมเหตุผล ด้านการสั่งยาในสถานพยาบาลประกอบด้วยตัวชี้วัดการสั่งยาในบัญชียาหลัก การสั่งยาด้วยชื่อสามัญทางยา ตัวชี้วัดการสั่งยาปฏิชีวนะเกินความจำเป็นในผู้ป่วยนอก การสั่งยาที่ไม่เหมาะสมในโรคที่พบบ่อยในผู้ป่วยเด็ก การสั่งยาจำเป็นเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในโรคเรื้อรังที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง การสั่งยาเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนโดยไม่จำเป็นในผู้ป่วยความเสี่ยงต่ำ ด้านผลลัพธ์ต่อสุขภาพจากการสั่งยาอย่างสมเหตุผลในโรคเรื้อรังประกอบด้วยการควบคุมภาวะโรค และการเข้าโรงพยาบาลจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากยาที่หลีกเลี่ยงได้ ในด้านผลกระทบของการส่งเสริมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในผู้ป่วยนอกต่ออัตราการติดเชื้อดื้อยา และผลกระทบด้านความเท่าเทียม ด้านค่าใช้จ่ายด้านยาระหว่างกองทุนประกันสุขภาพ ตัวชี้วัด RDU Country ชุดนี้มีองค์ประกอบของตัวชี้วัดปัจจุบันของกระทรวงสาธารณสุขและตัวชี้วัดปัจจุบันของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาพัฒนาระบบบริการให้มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ปี พ.ศ. 2565 และตัวชี้วัดอื่นๆ ที่คัดเลือกจากกระบวนการวิจัยในครั้งนี้ อย่างไรก็ตามตัวชี้วัดที่คัดเลือกเบื้องต้นจากงานวิจัยนี้ จำเป็นต้องได้รับการอภิปรายและพิจารณาถึงข้อดีข้อด้อย เพื่อปรับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญให้ตรงกันเป็นฉันทมติ สำหรับตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับการรักษาโรคจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชานั้นๆ ที่เป็นปัจจุบันต่อไป นอกจากนั้นตัวชี้วัดชุดนี้ภาพรวมเน้นไปที่การใช้ยาในมนุษย์ การสั่งยาโดยแพทย์ในโรงพยาบาล ยังมีข้อจำกัดด้านการใช้ยาในปศุสัตว์และเกษตรกรรม มิติการควบคุมการกระจายยาและใช้ยาในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน จำเป็นต้องมีการพัฒนาให้สมบูรณ์ในระยะต่อไป