บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ความสมบูรณ์ คุณภาพของข้อมูล และเพื่อรวบรวม วิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุจราจร และความสัมพันธ์กับแนวโน้มและการกระจายของปัจจัยเสี่ยงจากแหล่งข้อมูลที่มีเพื่อการวางยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหา และเสนอแนะต่อการพัฒนาระบบข้อมูล ในการวิเคราะห์ใช้ข้อมูลเผ้าระวังการบาดเจ็บหรือข้อมูล IS จากโรงพยาบาลนำร่อง 28 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ระหว่างปี พ.ศ. 2542-2546 เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มอุบัติเหตุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูล IS ที่ได้มาในระหว่างช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2542 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ประกอบด้วยข้อมูลผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด จำนวน 301,375 ราย แยกเป็นผู้เสียชีวิต 22,735 รายและผู้บาดเจ็บ 278,640 ราย แบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 6 หัวข้อดังนี้ 1. ช่วงเวลาการเกิดอุบัติเหตุ 2. ยานพาหนะที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ3. คนเดินเท้า 4. อุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ 5. ปัจจัยเสี่ยงของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 6. การใช้เข็มขัดนิรภัย ผลการวิเคราะห์แนวโน้มอุบัติเหตุทางถนนและความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยได้ข้อสรุปดังนี้ 1. การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเวลากลางคืนและกลางวันมีจำนวนใกล้เคียงกัน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตในเวลากลางคืนมากกว่า (56.2%)ในเวลากลางวัน (43.8%) 2. ปัญหาเรื่องดื่มแล้วขับขี่ยังเป็นปัญหาใหญ่สำหรับสังคมไทย ผลการศึกษาบ่งชี้ว่า อุบัติเหตุที่เป็นผลจากการที่ผู้ขับขี่ดื่มแอลกอฮอล์นั้นเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงเวลา 00.00-04.00 น. และยังล่วงเลยไปถึงช่วงก่อน 06.00 น. ชี้ให้เห็นว่ามาตรการการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หลังเวลาที่ทางการกำหนดนั้น ยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง 3. เป็นที่น่าวิตกว่าผู้ประสบอุบัติเหตุที่เป็นคนเดินทางเท้านั้น เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปี มากถึง 28.3% หรือทุกๆ หนึ่งในสี่ของผู้เดินทางเท้าที่ประสบอุบัติเหตุนั้นเป็นเด็กเล็ก ถึงแม้ว่ากลุ่มคนเดินทางเท้าที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดจะอยู่ระหว่าง 26-60 ปี และปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่คนเดินเท้ากลุ่มนี้คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีมากถึง 72.4% 4. รถจักรยานยนต์เป็นสาเหตุหลักในการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งพบว่ามีผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์มากถึง 76.2% และผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์สูงถึง 72.4% ของยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด 5. อุบัติเหตุที่เกิดกับรถจักรยานยนต์เป็นอุบัติเหตุที่ไม่มีคู่กรณี หรือ Single Vehicle Crash มีมากถึง 43.3% อย่างไรก็ตาม มากกว่าครึ่งของผู้ขับขี่กลุ่มนี้ (58.5%) เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 6. ปัจจัยสำคัญที่พบจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุกับหมวกนิรภัย ได้แก่ ผู้ขับขี่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยมากกว่าผู้ซ้อนท้ายเกือบสามเท่า เพศหญิงมีอัตราสวมหมวกนิรภัยมากกว่าเพศชาย การสวมหมวกนิรภัยในเวลากลางคืนมีเพียง 14.2 % และลดลงเหลือเพียง 7.8%ในเวลากลางคืน อัตราการใช้หมวกนิรภัยจะเพิ่มขึ้นตามอายุของผู้ใช้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์มีผลให้ผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยน้อยลง นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญที่พบจากผู้ใช้รถยนต์ รถกระบะ/รถตู้ที่ประสบอุบัติเหตุกับเข็มขัดนิรภัย ได้แก่ ผู้ขับขี่มีอัตราการใช้เข็มขัดนิรภัยมากกว่าผู้โดยสารถึงห้าเท่า เพศหญิงมีอัตราการใช้เข็มขัดนิรภัยมากกว่าเพศชาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์มีผลให้ผู้ขับขี่ใช้เข็มขัดนิรภัยลดลง