บทคัดย่อ
การเฝ้าระวังการติดเชื้อที่ตําแหน่งผ่าตัดของประเทศไทยในปัจจุบัน มีความแตกต่างกันอย่างมาก ทําให้ข้อมูลไม่สามารถนํามาเปรียบเทียบกันได้ การพัฒนาระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดเป็นวิธีการสําคัญในการพัฒนามาตรฐานการเฝ้าระวังเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพ และนําไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรฐาน ประเมินระบบและสร้างเครือข่ายการเฝ้าระวังการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดในโรงพยาบาล 13 แห่ง ในเขตภาคใต้ของประเทศไทย เก็บข้อมูลโดยสัมภาษณ์พยาบาลควบคุมการติดเชื้อและเฝ้าระวังการติดเชื้อที่ตําแหน่งผ่าตัดแบบไปข้างหน้า โดยใช้วิธีการและเกณฑ์การวินิจฉัยการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดของศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกาคํานวณอัตราการติดเชื้อโดยปรับตามดัชนีความเสี่ยงและเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาโดยรายงานเป็นค่า Standardized Infection Ratio (SIR) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม STATA version 7 การศึกษาครั้งนี้พบว่าการพัฒนาการเฝ้าระวังการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทําให้นําข้อมูลจากโรงพยาบาลต่างๆ มารวมกันได้สามารถเปรียบเทียบอัตราการติดเชื้อระหว่างโรงพยาบาลได้ ส่งผลให้มีอัตราการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดที่เป็นมาตรฐานสําหรับใช้ในการเปรียบเทียบ ได้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่น่าเชื่อถือ นําข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น นําไปสู่การพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วย จนทําให้อัตราการติดเชื้อลดลง การมีเครือข่ายการเฝ้าระวังก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงพยาบาล สามารถนําความรู้และประสบการณ์ที่ได้ไปพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัด นอกจากนี้พบว่าโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง ยังคงดําเนินการเฝ้าระวังการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดในรูปแบบที่พัฒนาขึ้นต่อไป องค์ประกอบสําคัญในการคงไว้ซึ่งระบบและเครือข่ายการเฝ้าระวังการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดที่พัฒนาคือได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร มีพยาบาลควบคุมการติดเชื้อเพียงพอ ได้รับความร่วมมือจากทีมดูแลผู้ป่วยศัลยกรรมและผู้ที่เกี่ยวข้อง มีทรัพยากรสนับสนุนและงบประมาณเพียงพอ ปัญหาอุปสรรคสําคัญในการคงไว้ซึ่งระบบคือ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องพยาบาลควบคุมการติดเชื้อไม่เพียงพอและขาดบุคลากรที่ช่วยในการบันทึกข้อมูลในคอมพิวเตอร์ ข้อเสนอแนะคือทําผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ ประสานความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องและจัดหาพยาบาลควบคุมการติดเชื้อและบุคลากรให้เพียงพอ สรุปว่าการพัฒนาระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดเป็นการพัฒนาเชิงระบบให้ได้มาซึ่งการเฝ้าระวังการติดเชื้อตําแหน่งผ่าตัดที่มีมาตรฐาน ได้อัตราการติดเชื้อมาตรฐานสําหรับใช้ในการเปรียบเทียบและนําไปสู่การพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วย