บทคัดย่อ
การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพบริการทันตกรรมในสถานพยาบาลที่ไม่ใช่โรงพยาบาล จากการทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องทำให้ทราบว่า ปัจจุบันเกณฑ์การประเมินคุณภาพบริการด้านทันตกรรมของประเทศไทย มีการระบุไว้เป็นทางการเพียง 2 แห่ง ได้แก่ ในเอกสารบันทึกการตรวจสอบสถานพยาบาลประเภทไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (สาขาทันตกรรม) ของสำนักมาตรฐานสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และในแนวทางการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการทันตกรรมในสถาน พยาบาล ประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ของฝ่ายโรงพยาบาลเอกชน กองการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ประกอบไปกับเกณฑ์มาตรฐานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่ามาตรฐานที่กำหนดเพื่อใช้กับสถานพยาบาลทันตกรรมภาคเอกชนที่ไม่ใช่โรงพยาบาล (คลินิกทันตกรรม) จะเป็นการกำหนดเพียงกรอบกว้างๆ โดยลงรายละเอียดเฉพาะส่วนการตรวจและรับใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลเท่านั้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในระบบบริการ โดยเน้นการมีคุณภาพที่ตรวจสอบได้ รวมทั้งการมีส่วนร่วมของผู้รับบริการในการกำกับคุณภาพบริการและในอนาคตคลินิกเอกชนอาจต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาข้อกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพสถานบริการทันตกรรม (คลินิก) ให้เหมาะสมสอดคล้องกับระบบสุขภาพที่เปลี่ยนแปลงไปมากยิ่งขึ้น ในการประเมินสถานพยาบาลทางทันตกรรมภาคเอกชนที่ไม่ใช่โรงพยาบาล เพื่อให้ทราบสถานการณ์ของการปฏิบัติด้านคุณภาพ พบว่าสถานพยาบาลส่วนใหญ่มีการจัดการด้านสถานที่อุปกรณ์ได้ดี ยกเว้นกรณีเครื่องถ่ายภาพรังสี ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการตรวจวินิจฉัยและรักษาทางทันตกรรมให้ได้คุณภาพ พบว่ายังมีสถานพยาบาลอยู่ถึงร้อยละ 8.4 ที่ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว และประเด็นด้านการควบคุมการติดเชื้อที่ควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง คือ มีสถานพยาบาลอยู่เพียงร้อยละ 20.4 ที่ทำให้ด้ามกรอฟันทั้งชนิดความเร็วสูงและความเร็วต่ำ ปราศจากเชื้อด้วยการ autoclave หลังทำการรักษาผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งจัดเป็นมาตรฐานการควบคุมการติดเชื้อทางทันตกรรมพื้นฐานในระดับสากล และเรื่องการกำจัดขยะติดเชื้อ ซึ่งการจัดการด้านสุขาภิบาลท้องถิ่นเพื่อจะมารองรับยังไม่ดีพอและประเด็นด้านความปลอดภัยอีกประการหนึ่งที่ควรให้ความสนใจ คือ ทันตแพทย์ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.2 ประเมินว่าตนเองไม่สามารถปฏิบัติการช่วยชีวิตฉุกเฉินในสถานพยาบาลได้ จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่องค์กรวิชาชีพที่ดูแลเรื่องการศึกษาต่อเนื่องควรให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว การปฏิบัติด้านคุณภาพที่ทันตแพทย์ยังละเลยหรือไม่รับทราบกันเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ป่วย ทั้งในเรื่องการสื่อสารเพื่อให้สอดคล้องกับสิทธิผู้ป่วยและการบันทึกการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนอย่างเป็นระบบ การให้ข้อมูลแก่ผู้รับบริการเป็นเรื่องสำคัญที่มีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและประชาชนกำลังตื่นตัวกับสิทธิอันชอบธรรมของตนเอง ในการรับรู้กระบวนการทุกขั้นตอนก่อนและหลังการรักษาที่ผู้ให้บริการพึงให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยและญาติ การศึกษาครั้งนี้ พบว่าทันตแพทย์จำนวนหนึ่งยังไม่ตระหนักในเรื่องดังกล่าว เช่นไม่มีการติดประกาศราคาค่ารักษาทางทันตกรรมของสถานพยาบาล ไว้ในที่ซึ่งผู้รับบริการเห็นได้ชัดเจนและทันตแพทย์อีกจำนวนหนึ่งยังเข้าใจว่าตนไม่จำเป็นต้องทราบและไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลแก่ผู้ป่วยในเรื่องสิทธิผู้ป่วย เพราะคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้ป่วยเองที่ต้องรักษาสิทธิของตนอยู่แล้ว การขาดความเข้าใจและขาดการสื่อสารที่ถูกต้องในประเด็นสำคัญเหล่านี้ เป็นสาเหตุสำคัญของการร้องเรียนของผู้ป่วยเข้ามายังสภาวิชาชีพ จากการศึกษาพบว่า มีปัจจัยที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ต่อการพัฒนามาตรฐานการประกันคุณภาพบริการทันตกรรม ในสถานพยาบาลที่ไม่ใช่โรงพยาบาล (คลินิกทันตกรรม) ในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. ฐานข้อมูลของสถานบริการทันตกรรม (คลินิกทันตกรรม) ความไม่สมบูรณ์ของฐานข้อมูลของสถานบริการทันตกรรม (คลินิกทันตกรรม) และการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการคงระบบการประกันคุณภาพ 2. ปัญหากระบวนการตรวจประเมินติดตามสถานบริการทันตกรรม (คลินิกทันตกรรม) 2.1 ความไม่ต่อเนื่องของการตรวจประเมินติดตามหลังเปิดให้บริการแล้ว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามาตรฐาน และการคงระบบการประกันคุณภาพ พบว่าคลินิกทันตกรรมถึงร้อยละ 70 ไม่เคยได้รับการตรวจติดตามจากหน่วยงานที่ออกใบอนุญาต อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในระยะ 5 ปีหลัง เพราะข้อมูลแสดงว่าร้อยละ 30 ซึ่งเคยได้รับการตรวจติดตาม ได้รับการตรวจครั้งสุดท้ายระหว่าง พ.ศ. 2541 – 2545 มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 82.4 ของสถานพยาบาลที่ได้รับการตรวจประเมินซ้ำทั้งหมด 2.2 พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งทำหน้าที่ตรวจประเมิน อาจไม่มีทันตแพทย์ร่วมด้วย เพราะไม่ได้มีการกำหนดว่าต้องเป็นทันตแพทย์ เนื่องจากปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามาตรฐานบริการ โดยเฉพาะหมวดนโยบาย/วิธีปฏิบัติและหมวดกระบวนการให้บริการ/ส่งเสริมป้องกัน 3. ความซับซ้อนของการค้นหาประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดและมาตรฐาน รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่บังคับใช้ใหม่และ เป็นปัจจุบันที่ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องปฏิบัติตาม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติให้สอดคล้องและให้ความร่วมมือในการพัฒนากระบวนการประกันคุณภาพ ตัวอย่างเช่น มีคลินิกทันตกรรม เพียงร้อยละ 16 จากคลินิกที่มีการใช้เครื่องเอกซเรย์ทั้งหมด ที่ได้ยื่นขออนุญาตผลิตและใช้พลังงานรังสีเอกซเรย์ ตามแบบ พ.ป.ส 1 ทวิ จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ทั้งที่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 โดยมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ที่ไม่ได้ยื่นขออนุญาตให้ข้อมูลว่า ไม่เคยทราบว่าต้องขออนุญาต 4. มาตรฐานที่บังคับใช้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง มาตรฐานบางเรื่องที่ใช้ร่วมกับวิชาชีพอื่น ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการบริการทันตกรรมเนื่องจากความแตกต่างของเครื่องมือและลักษณะการใช้งาน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติและปรับปรุงให้สอดคล้องและความร่วมมือในการพัฒนากระบวนการประกันคุณภาพ 5. ความไม่สอดคล้องของตัวมาตรฐาน และ/หรือการปฏิบัติตามมาตรฐานในการเชื่อมต่อกับระบบใหญ่ในการประกันคุณภาพบริการ ความไม่สอดคล้องนี้ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารความเข้าใจสู่ผู้ปฏิบัติ การพัฒนามาตรฐานและความร่วมมือในการพัฒนากระบวนการประกันคุณภาพ ตัวอย่าง หมวดการควบคุมการติดเชื้อ ปัจจุบันมาตรฐานที่ใช้ในสถาบันการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัยยังแตกต่างกันและมาตรฐานของภาครัฐที่ทำออกมาเป็นคู่มือและถือปฏิบัติก็ยังมีความแตกต่างในสาระสำคัญ ส่วนการแยกขยะติดเชื้อ ภาครัฐยังไม่มีการรองรับเรื่องการจัดการมูลฝอยติดเชื้อที่ทำการแยกจากคลินิกไปจัดการให้เป็นระบบ ส่วนเรื่องการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกจากสถานพยาบาล ไม่มีกฎหมายรองรับสำหรับสถานพยาบาลที่ไม่มีการรับผู้ป่วยไว้ ค้างคืน เช่น คลินิกแพทย์ คลินิกทันตกรรม เป็นต้น 6. การขาดข้อมูลที่เป็นข้อกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับ นโยบายและการให้บริการทันตกรรมขององค์กรวิชาชีพในเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเด็นการประกันคุณภาพบริการทันตกรรมและคุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรวิชาชีพ ซึ่งกฎหมายครอบคลุมไปไม่ถึง เช่น นโยบายที่ประกันการปฏิบัติตามสิทธิผู้ป่วย กระบวนการให้บริการทันตกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาในเรื่อง นโยบาย /วิธีปฏิบัติและกระบวนการบริการทันตกรรม เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการตรวจประเมินเพื่อประกันคุณภาพคลินิก 7. การขาดความเชื่อมโยงของการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพในภาพรวม ที่สนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเกื้อกูลกัน ซึ่งต้องการการพัฒนาไปพร้อมกันอย่างสมดุลผลจากการศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยได้จัดทำสรุปและข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1. ข้อเสนอแนวคิดในการวางกลยุทธ์เพื่อพัฒนาคุณภาพสถานบริการทันตกรรม (คลินิก) โดยเชื่อมโยงเกณฑ์ข้อกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพจากผลประเมินการปฏิบัติเชิงคุณภาพทางทันตกรรม ในสถานพยาบาลที่ไม่ใช่โรงพยาบาล พบว่ายังมีประเด็นคุณภาพในหลายส่วน ที่ต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้กระบวนการประกันคุณภาพบริการทันตกรรมมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาต้องทำควบคู่ไปทั้งในส่วน 1) ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล (คลินิก) และทันตแพทย์ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ 2) หน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่กำกับดูแลสถานพยาบาล และส่วน 3) องค์กรวิชาชีพที่มีหน้าที่พัฒนามาตรฐานบริการและกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพ จึงควรมีการกำหนดแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจนเพียงพอที่จะสามารถวางกลยุทธ์ว่า การพัฒนาในแต่ละส่วนต้องการมุ่งไปสู่เป้าหมายร่วมกันอย่างไร ซึ่งผู้วิจัยได้นำเสนอแนวคิดการพัฒนาคุณภาพบริการทันตกรรมในลักษณะ matrix ของเกณฑ์ข้อกำหนดมาตรฐานบริการทางทันตกรรมและหลักการพัฒนาคุณภาพ โดยแบ่งเป็น 3 ขั้น ได้แก่ มาตรฐานขั้นต้น มาตรฐานขั้นกลาง และมาตรฐานขั้นสูง แนวทางการพัฒนาควรทำเป็นขั้นตอน โดยในระยะสั้นเน้นการพัฒนาสถานบริการทันตกรรม (คลินิก) ทั้งประเทศให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต้น ส่วนสถานบริการทันตกรรม (คลินิก) ที่ทำได้ดีแล้ว ควรมีปัจจัยสนับสนุนทั้งในส่วนขององค์ความรู้เพื่อการพัฒนาต่อและเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้สามารถพัฒนาไปสู่มาตรฐานขั้นกลางและขั้นสูงได้ และในระยะกลางถึงระยะยาวเมื่อกระบวนการประเมินทำได้ดี อาจพิจารณาให้มีการรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานรัฐหรือองค์กรวิชาชีพที่เป็นกลาง ซึ่งสถานบริการทันตกรรม (คลินิก) สามารถแสดงต่อสาธารณะได้ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้สถานบริการต้องการพัฒนาให้ดีขึ้นและเป็นการให้ข้อมูลและทางเลือกแก่ประชาชนเพิ่มขึ้นอีกวิธีหนึ่ง 2. ประเด็นสำคัญและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการประกันคุณภาพบริการทันตกรรมและพัฒนาระบบบริการสุขภาพช่องปาก 2.1 ความไม่สมบูรณ์ของฐานข้อมูล มีข้อเสนอว่า 2.1.1 ควรมีการลงทุน เพื่อจัดทำฐานข้อมูลที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงระบบการประกันคุณภาพบริการทันตกรรม เช่น ทะเบียนสถานบริการทันตกรรม ชั้น 1 และชั้น 2 ทะเบียนทันตแพทย์ และทันตบุคลากรพร้อมสถานที่ทำงานหลัก ทะเบียนทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางและสถานที่ทำงาน ทะเบียนการศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทย์ 2.1.2 ควรมีการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน สามารถตรวจสอบได้และมีความน่าเชื่อถือเมื่อต้องนำไปใช้ในการวิเคราะห์ วางแผน หรือประเมินผล 2.2 กระบวนการตรวจประเมินติดตาม มีข้อเสนอว่า 2.2.1 ควรมีการตรวจประเมินติดตามสถานพยาบาลอย่างสม่ำเสมอและปรับปรุงวิธีการให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาสถานบริการ และเป็นข้อมูลในการตรวจติดตามครั้งต่อไป 2.2.2 ควรเพิ่มบุคลากรให้เหมาะสม โดยมีทันตแพทย์ร่วมในการตรวจประเมินเพื่อขออนุญาตตั้งสถานพยาบาล ขั้นตอนการประเมินนี้ ควรเน้นที่หมวดสถานที่ เครื่องมือ และความปลอดภัย และหมวดควบคุมการติดเชื้อในเรื่องอุปกรณ์และระบบควบคุมการติดเชื้อ 2.2.3 ควรมีทันตแพทย์ร่วมในการตรวจประเมินติดตาม ซึ่งครอบคลุมหมวดควบคุมการติดเชื้อในเรื่องแนวทางปฏิบัติและการประเมินผล หมวดนโยบาย/วิธีปฏิบัติและหมวดกระบวนการบริการทันตกรรม/ส่งเสริมป้องกัน เพราะเป็นประเด็นหลักที่สำคัญของการประกันคุณภาพทางทันตกรรมในส่วนคลินิกบริการ 2.2.4 ทันตแพทย์ผู้ทำหน้าที่ตรวจประเมินควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ เรื่องมาตรฐานใหม่ที่เป็นปัจจุบันและการพัฒนาคุณภาพบริการทันตกรรมตามแนวทาง Hospital Accreditation และควรได้รับค่าตอบแทนการทำงานตามเวลาทำงานและมีการประเมินทั้งโดยส่วนกลางและผู้รับการประเมินเพื่อพัฒนามาตรฐานของผู้ตรวจประเมินและของระบบโดยรวม 2.3. การรับรู้ข้อมูลที่สำคัญของทันตแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล รวมถึงการเข้าถึงข้อมูลที่บังคับใช้ใหม่และเป็นปัจจุบัน มีข้อเสนอว่า 2.3.1 มีการสอนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพในหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต ทันตแพทยสภาร่วมกับที่ปรึกษากฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันวางหลักสูตร เช่น สำนักมาตรฐานสถาน พยาบาลและกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสรรพากร กองรังสีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นต้น 2.3.2 จัดทำข้อมูลสรุป เพื่อใช้ในหลักสูตรโดยให้ครอบคลุมในประเด็นสำคัญของกฎหมาย และมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง โดยระบุที่มาของกฎหมายและมาตรฐาน กำกับไว้เพื่อสามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มได้และมีการปรับปรุงข้อมูลสรุปตามระยะเวลาที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เป็นปัจจุบัน 2.3.3 ทันตแพทยสภาควรมีการปรับปรุงฐานข้อมูลกฎหมายที่เป็นปัจจุบันใน Website ทันทีที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีการแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบในข่าวสารทันตแพทยสภา ว่ามีการประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่เกี่ยวข้องเรื่องใดบ้าง และทำการสรุปในประเด็นสำคัญเพื่อปรับปรุงหลักสูตรที่สอนนักศึกษาทันตแพทย์ตามข้อ 2.3.1 และ 2.3.4 มีการเชื่อมโยงเรื่องกฎหมายและมาตรฐานที่เป็นปัจจุบันกับการสอบใบประกอบโรคศิลป์และหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องของทันตแพทย์ซึ่งอาจมีขึ้นในอนาคต 2.4 มาตรฐานที่บังคับใช้ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง เช่น มาตรฐานห้องเอกซเรย์และเครื่องเอกซเรย์วินิจฉัยทางทันตกรรม มีข้อเสนอว่าตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักมาตรฐานสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ทันตแพทยสภาโดยอาจร่วมกับอาจารย์ภาควิชาทันตรังสีวิทยาและกองรังสีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อร่วมกันหาข้อสรุปในส่วนวิชาการเชิงเทคนิค เพื่อกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมและยอมรับได้ร่วมกัน รวมทั้งหาทางออกในการพัฒนาคลินิกที่ยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สามารถพัฒนาไปสู่มาตรฐานได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม 2.5 ความไม่สอดคล้องของมาตรฐานและ/หรือการปฏิบัติตามมาตรฐานในการเชื่อมต่อของระบบใหญ่ มีข้อเสนอว่า 2.5.1 ทำการวิจัยต่อในเรื่องนี้ในแนวลึกและศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันทีสถาบันการศึกษาปฏิบัติในเรื่องการควบคุมการติดเชื้อ รวมทั้ง หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิตที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ 2.5.2 เมื่อได้ข้อสรุปของมาตรฐานที่ใช้แล้ว ควรสร้างความเชื่อมโยงของระบบบนมาตรฐานเดียวกัน ตั้งแต่การเรียนการสอน การควบคุมการปฏิบัติในภาครัฐและเอกชน การให้ความรู้กับประชาชนและการตรวจประเมินเพื่อการประกันคุณภาพ รวมทั้งเชื่อมโยงกับการศึกษาต่อเนื่องเมื่อมีการปรับปรุงมาตรฐาน 2.6 การขาดข้อมูลที่เป็นข้อกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและการให้บริการทันตกรรม ในเรื่องที่มีความสำคัญต่อประเด็นการประกันคุณภาพบริการทันตกรรมและคุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรวิชาชีพ มีข้อเสนอว่า2.6.1 มีการกำหนดแนวทางปฏิบัติกลาง เพื่อให้นโยบายเรื่องสิทธิผู้ป่วยได้รับความสำคัญและมีแนวทางที่ชัดเจนสู่การปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรม สามารถทำการตรวจประเมินติดตามได้ 2.6.2 มีการกำหนด Clinical Practice Guidelines ในเรื่องที่มีความต้องการของการรับบริการจากประชาชนสูง บริการทันตกรรมที่มีโอกาสเกิดความเสี่ยงสูง และขอบเขตบริการที่ต้องส่งต่อเพื่อรับการรักษาจากทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเท่านั้น 2.7 การขาดความเชื่อมโยงของการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพในภาพรวมที่สนับสนุนให้เกิดความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องเกื้อกูลกัน มีข้อเสนอว่าให้มีคณะทำงานทำการวางแผนระยะสั้นและระยะกลางเพื่อพัฒนาระบบการประกันคุณภาพบริการทันตกรรม โดยมองเชื่อมโยงภาพรวม ตั้งแต่การพัฒนาหลักสูตรทันตแพทยศาสตร์ การกำหนดเกณฑ์เพื่อเสริมกฎหมาย การสร้างฐานข้อมูลเพื่อการสื่อสารความรู้และพัฒนาระบบ การหาข้อยุติในทางปฏิบัติระหว่างองค์กร การจัดหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่องให้สอดคล้องและกระบวนการพัฒนาทีมผู้ตรวจประเมิน