บทคัดย่อ
ในปี พ.ศ. 2535 รัฐบาลได้ผลักดันพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 บังคับใช้เพื่อให้เจ้าของรถทุกคันต้องร่วมรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุจากรถที่อาจจะเกิดขึ้น โดยกำหนดให้รถทุกคันต้องตัดให้มีการประกันภัยต่อความเสียหายในร่างกาย ชีวิต และอนามัยของผู้ประสบภัยจากรถ นอกจากนี้เพื่อไม่ให้ปัญหาเรื่องการเงินเป็นอุปสรรคต่อการรับผู้ประสบภัยเข้าทำการรักษาพยาบาล จึงให้มีการจัดตั้งกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อทำหน้าที่จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้น โดยไม่ต้องรอการพิสูจน์ความผิด ให้แก่สถานพยาบาลตามแต่กรณีที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติฯ ฉบับดังกล่าว ภายหลังการบังคับใช้พบว่า ผู้ประสบภัยมีปัญหาในการขอรับค่าความเสียหาย มีขั้นตอนยุ่งยาก เกิดความล่าช้า หรือบางครั้งถูกปฏิเสธการจ่าย ปัญหาเหล่านี้ทำให้เกิดข้อสงสัยถึงกลไกการทำงานภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองฯ ว่ามีประสิทธิภาพเพียงใด นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีโครงการที่ให้หลักประกันสุขภาพ เช่น โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค สวัสดิการข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ กองทุนประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งโครงการเหล่านี้ให้ความคุ้มครองครอบคลุมถึงกรณีการประสบอุบัติเหตุจากรถเช่นกัน ทำให้เกิดความซ้ำซ้อน ในทางปฏิบัติพบว่า ความซ้ำซ้อนของสิทธิประโยชน์จากโครงการต่างๆ เป็นสิ่งจูงใจให้ผู้ประสบภัยมีพฤติกรรมเลือกการใช้สิทธิที่ให้ประโยชน์สูงสุด หรือ ไม่เลือกใช้สิทธิที่ไม่สะดวก ทำให้เกิดปัญหาการเบิกจ่ายค่าความเสียหาย การใช้สิทธิผิดประเภท และความซ้ำซ้อนของโครงการ งานวิจัยชิ้นนี้จึงมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1. เพื่อศึกษาถึงโครงสร้างการดำเนินงานให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ บทบาทและผลการดำเนินงานของผู้ให้ความคุ้มครอง และพฤติกรรมของผู้ประสบภัยจากรถในการขอรับความคุ้มครองภายใต้ พรบ.คุ้มครองฯ 2. เพื่อนำเสนอแนวทางการให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และความเหมาะสมของสถานะการดำรงอยู่ของกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ว่าควรจะดำเนินการภายใต้รูปแบบปัจจุบันหรือโอนเงินสมทบไปยังกองทุนหลักประกันสุขภาพตามข้อเสนอ หรือแนวทางอื่นที่อาจจะเหมาะสมกว่าทางเลือกทั้งสอง