บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์บริการสุขภาพสำหรับสตรีวัยกลางคนของสถานบริการต่างๆ ในภาครัฐและเอกชนในภาคเหนือ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกตในสถานการณ์ต่างๆ กลุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้รับริการจำนวน 76 คน และผู้ให้บริการจำนวน 20 คน ศึกษาในสถานบริการสุขภาพของรัฐบาลและเอกชน ใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (content analysis) และตรวจสอบโดยวิธีสามเส้า (triangulation) ผลการศึกษาสรุปได้ ดังนี้ คลินิกส่งเสริมสุขภาพเฉพาะสตรีวัยกลางคนนี้ ในโรงพยาบาลของภาครัฐบาลมีจำนวนน้อยและต่ำกว่าเป้าหมาย สถานบริการบางแห่งไม่ส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีวัยกลางคนมีทางเลือกในการดูแลตนเอง เน้นระบบพึ่งพาบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้แล้วสถานบริการส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมในการให้บริการทั้งด้านสถานที่และบุคลากร ตัวบุคลากรเองยังขาดความรู้ที่ทันสมัย และไม่ค่อยมีแนวทางที่เป็นมาตรฐานชัดเจนในการให้บริการ ในมุมมองของผู้รับบริการมักจะมองสุขภาพในแง่ร่างกายเป็นอันดับแรก ในแง่มุมอื่นนอกจากร่างกาย ได้แก่ จิตใจ อารมณ์ และสังคม เมื่อพิจารณาถึงการรับรู้ต่อสุขภาพของตนเองในวันนี้ สตรีส่วนใหญ่จะให้ความเห็นตรงกันว่าเข้าสู่วัยเสื่อม ในการเข้ารับบริการส่วนใหญ่ได้รับการบอกต่อๆ กันของผู้รับบริการ บางรายได้รับคำแนะนำจากบุคลากรสุขภาพ ผู้นำชุมชนและสื่อมวลชนอื่นๆ เหตุผลที่เข้ารับบริการเนื่องจากอาการไม่สุขสบายเกิดจากอาการหมดระดู และสตรีบางรายเคยใช้ยาคุมกำเนิดมา จึงต้องการมาคลินิกเพื่อขอรับการรักษาด้วยฮอร์โมนต่อเนื่อง สำหรับสตรีที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทุกคนให้ข้อมูลว่า อาการไม่สุขสบายต่างๆ ทุเลาลง อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่มีความกังวลว่าการใช้ฮอร์โมนเป็นระยะเวลานานๆ จะก่อให้เกิดผลเสีย โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม และมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ และให้ข้อเสนอแนะว่าควรมีการให้บริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องการให้มีการปรับปรุงการให้บริการในแง่การให้คำปรึกษาแนะนำ และการจัดกลุ่มสนทนา รวมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ดังนั้น ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ ควรมีบริการส่งเสริมสุขภาพสำหรับสตรีวัยนี้โดยทั่วไปในสถานบริการของภาครัฐบาลทุกระดับของโรงพยาบาล รวมทั้งโรงพยาบาลเอกชนในการให้บริการควรเน้นการให้บริการแบบองค์รวม (Holistic care) โดยคำนึงถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ การใช้สมุนไพร พิธีกรรมตามความเชื่อ ประเพณีวัฒนธรรมและศาสนา ซึ่งทำให้เกิดขวัญและกำลังใจ และไม่มีผลลบต่อสุขภาพ ผู้ให้บริการควรมีการพัฒนาองค์ความรู้ที่ทันสมัยในการส่งเสริมสุขภาพ มีการให้ข้อมูลความรู้อย่างถูกต้องและเพียงพอ ภาครัฐควรจัดสื่อเพื่อการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนอย่างกว้างขวาง มีการประชาสัมพันธ์ในเรื่องการดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน