บทคัดย่อ
การพัฒนาระบบไฟฟ้าที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพในด้านต่างๆ ต่อชุมชนท้องถิ่น ทําให้โครงการโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ได้รับการต่อต้านและเป็นสาเหตุสําคัญของความขัดแย้งในสังคมไทย การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเป็นทางออกที่สําคัญของปัญหาผลกระทบทางสุขภาพต่างๆ เพราะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและมีผลกระทบน้อยกว่า ทางสํานักงานนโยบายและแผนพลังงาน และคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ดําเนินมาตรการสนับสนุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนโดยนําเงินจากกองทุนฯ มาสนับสนุนราคารับซื้อไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 5 ปีและมีการคัดเลือกโดยวิธีการประมูลขอรับการสนับสนุน การศึกษาในครั้งนี้เลือกกรณีศึกษาที่ผ่านการประมูล แต่มีการคัดค้านโดยประชาชนในพื้นที่ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแกลบของบริษัทเอทีไบโอพาวเวอร์จํากัด ใน 2 พื้นที่คือ ตําบลน้ำทรง อําเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์และตําบลโพกรวม อําเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อประยุกต์ใช้การประเมินผลกระทบทางสุขภาพในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการตัดสินใจโครงการ ทางโครงการวิจัยเสนอให้ทางเจ้าของโครงการเปิดเผยร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนกระบวนการตรวจสอบร่วมกันของสาธารณะ (Public Review) ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี หลังจากนั้นจึงจัดกระบวนการพูดคุยกับชุมชนทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายคัดค้านโครงการ ในช่วงเดือนธันวาคม 2545 - กุมภาพันธ์ 2546 โดยครอบคลุมประเด็นผลกระทบและผลประโยชน์ในแต่ละประเด็น แล้วนํามาเปรียบเทียบกับข้อมูลในร่างรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งข้อมูลที่ทางโรงไฟฟ้าชี้แจงในเวทีต่างๆ เพื่อจัดทํารายงานการประมวลข้อคิดเห็นของประชาชน (Public Scoping) สําหรับแต่ละกรณีศึกษา แล้วจึงมีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งการจัดเวทีเชิงนโยบายร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในด้านผลที่เกิดขึ้นจากกระบวนการกับแต่ละกลุ่มในแต่ละพื้นที่ ช่วยทําให้ชาวบ้านฝ่ายสนับสนุนมีความเข้าใจที่ถูกต้องและชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้า ในขณะที่ฝ่ายคัดค้านก็มีความเข้าใจชัดเจนมากขึ้น ถึงผลประโยชน์ของโครงการและเหตุผลของฝ่ายสนับสนุน