บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชน ในที่นี้รวมถึงสื่อและช่องทางที่ใช้ในการเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วม เพื่อสามารถเป็น “ต้นแบบ” ในการเผยแพร่งานวิจัยในสาขาอื่นๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อศึกษาความแตกต่างของรูปแบบการเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชนที่มีลักษณะต่างกัน และเพื่อศึกษาปัญหา/อุปสรรค ตลอดจนข้อเสนอแนะในการพัฒนารูปแบบงานวิจัยสุขภาพในชุมชน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) จากกลุ่มบุคคล 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มข้าราชการการเมือง/เจ้าหน้าที่ฝ่ายสาธารณสุข 2) กลุ่มแกนนำชุมชน 3) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และ4) กลุ่มประชาชนทั่วไปในพื้นที่เทศบาลตำบลโพธิ์พระยา อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลบางบัวทอง อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เป็นกรณีศึกษา รวมทั้งสิ้น 172 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การประชุมสนทนากลุ่ม และการสังเกตการณ์ในการประชุม/สัมมนาอย่างมีส่วนร่วมในชุมชน การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพโดยใช้การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) เพื่อนำเสนอข้อมูลตามวัตถุประสงค์การวิจัย นำเสนอผลโดยการพรรณนา ผลการวิจัยพบว่าการเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชนจะต้องได้รับการพัฒนารูปแบบโดยเพิ่มฝ่ายบริการข้อมูลลงไปในรูปแบบการเผยแพร่งานวิจัยที่คณะทำงานเผยแพร่งานวิจัยใช้อยู่เดิม ฝ่ายบริการข้อมูลนี้จะเป็นสื่อบุคคลที่ช่วยให้การเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะต้องได้รับการอบรมจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขก่อนส่งไปประจำในชุมชน เพื่อทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกับชุมชน นอกจากสื่อบุคคลดังกล่าว เครื่องมือที่ช่วยในการเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชน คือ สื่อสิ่งพิมพ์ (จดหมายข่าว) และสื่อกระจายเสียง (หอกระจายข่าว) รูปแบบการเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชนที่มีลักษณะต่างกัน สามารถใช้รูปแบบในการเผยแพร่แบบเดียวกันได้ โดยมีความแตกต่างเล็กน้อยในส่วนของรายละเอียด นั่นคือ ที่ตำบลโพธิ์พระยา สามารถใช้แกนนำชุมชนเป็นสื่อบุคคลในการถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยสู่ชุมชนได้ ส่วนที่ตำบลบางบัวทอง ใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เป็นสื่อบุคคลทำหน้าที่นี้แทน โดยทำงานประสานกับฝ่ายบริการข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ปัญหา อุปสรรคในการเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชน คือ พื้นฐานการศึกษาของคนในชุมชน ทำให้มีข้อจำกัดในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร การไม่ให้ความร่วมมือของคนบางกลุ่มในชุมชน และงานวิจัยสุขภาพที่เหมาะในการนำไปเผยแพร่ในชุมชนยังมีจำนวนน้อยมาก ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนารูปแบบการเผยแพร่งานวิจัยสุขภาพในชุมชนควรมีหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขกับชุมชนไปประจำอยู่ในชุมชนต่างๆ ให้ครบทุกตำบลทั่วประเทศ ตัวแทนจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขที่ออกไปทำหน้าที่เผยแพร่งานวิจัยสุขภาพของสถาบันฯ ในชุมชน ควรเป็นบุคคลที่มีความตั้งใจ อดทน ต้องลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และมีความจริงใจที่จะนำความรู้จากงานวิจัยไปเผยแพร่โดยปราศจากผลประโยชน์แอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่จบการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา สาระความรู้จากงานวิจัยที่จะนำไปเผยแพร่ในชุมชนควรจะต้องย่อยเสียก่อน ให้เนื้อหาตรงกับความต้องการของผู้รับสาร เป็นเรื่องใกล้ตัว สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เนื้อหาจากงานวิจัยที่จะนำไปเผยแพร่ในชุมชนผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อกระจายเสียง ควรเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนในชุมชน และเป็นเรื่องที่ชุมชนให้ความสนใจหรือเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ชุมชนกำลังประสบอยู่