บทคัดย่อ
การที่ประชากรมีอายุยืนขึ้นทำให้โรคเรื้อรังที่เป็นผลจากการเสื่อมของสภาพร่างกาย เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคปอดอักเสบเรื้อรัง เป็นต้น กลายเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญอย่างมากในปัจจุบัน ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและวิทยาการทางการแพทย์อย่างมากในเวลาเดียวกัน แต่กลับพบว่ามีประชากรที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ มากกว่าร้อยละ 50 ที่ได้รับการดูแลรักษาต่ำกว่ามาตรฐาน ผลการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1995 พบว่า ประชากรราว 100 ล้านคน มีโรคเรื้อรังอย่างน้อย 1 โรค โดยเฉพาะในประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป ที่พบว่าประมาณร้อยละ 86 มีโรคประจำตัวเรื้อรังตั้งแต่ 1 โรคขึ้นไป และมีถึง 1 ใน 4 ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังตั้งแต่ 4 โรคขึ้นไป แต่ผลการสำรวจเกี่ยวกับการดูแลรักษา มีประชากรที่มีโรคเรื้อรังเหล่านี้มากกว่าร้อยละ 50 ที่ได้รับการดูแลรักษาต่ำกว่ามาตรฐาน วงวิชาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วได้เล็งเห็นปัญหานี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 แต่มีความตื่นตัวอย่างสูงและเห็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดย Robert Wood Johnson Foundation ได้มีการจัดตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญและให้ทุนสนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาต้นแบบการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากวงวิชาการด้านการแพทย์เล็งเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นเพียง “ช่องว่าง” (Gap) แต่เป็น “หุบเหว”ของความบกพร่องด้านคุณภาพการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังเลยทีเดียว และการมาตรการเสริมต่อใดๆ เข้ากับระบบการดูแลผู้ป่วยในปัจจุบันซึ่งเหมาะกับโรคเฉียบพลันไม่เป็นการเพียงพอ แต่จะต้องมีการปฏิรูปหรือออกแบบรูปแบบบริการสุขภาพแบบใหม่เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังขึ้น