บทคัดย่อ
ผลจากการทบทวนเอกสารและจากการศึกษากรณีต่างๆ พบว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาการแพทย์นอกกระแสหลักที่ผ่านมาและต่อยอดสู่อนาคต มีปัจจัยร่วมที่สำคัญที่จักส่งผลให้เกิดความสำเร็จดังนี้ 1.รัฐต้องดำเนินนโยบายและกระบวนการให้สอดคล้องกัน โดยส่งเสริมให้กลไกในการประสานงาน การศึกษา การวิจัย ดำเนินการในการเปิดพื้นที่ให้การแพทย์นอกกระแสหลักแต่ละระบบพัฒนาตนเองในบริบทที่มีเขตแดนประสิทธิภาพสูงสุดและเกิดการผสมผสานระหว่างการแพทย์ระบบต่างๆ ในลักษณะการส่งต่อที่รู้ข้อจำกัดและข้อเด่นของแต่ละสาขา 2. การรวมตัวเป็นเครือข่ายทำให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้สังคมยอมรับมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความชัดเจนในแนวคิดหลักเรื่องระบบสุขภาพที่ต้องมีระบบทฤษฎีโรคและระบบดูแลสุขภาพที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาและทรัพยากรท้องถิ่น การมีผู้นำที่ดี การมีผู้อำนวยการกระบวนการ (Facilitator) และกลไกเชื่อมต่อ การดำเนินกระบวนการต้องทำอย่างต่อเนื่อง การสนับสนุนทุนต้องคำนึงถึงธรรมชาติของการแพทย์นอกกระแสหลักในแต่ละสาขา 3. การสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับประเทศอื่นๆ เป็นพลังที่ช่วยให้เกิดการทบทวนตนเอง กำลังใจและเกิดการพัฒนาที่ต่อเนื่อง 4. การสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เกิดวิธีวิทยาใหม่ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการรักษาโดยการแพทย์นอกกระแสหลักหรือการแพทย์แบบตะวันออก 5. การให้รางวัลยกย่องบุคลากรที่ดำเนินการเกี่ยวกับการแพทย์นอกกระแสหลักของสถาบันต่างๆ เป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการกระตุ้นให้ชุมชนได้เห็นความสำคัญ เช่น การจัดสรรรางวัลเกียรติคุณให้กับหมอพื้นบ้านของมหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ ทำให้สังคมรู้จักและเคารพยอมรับคุณค่าของระบบการแพทย์พื้นบ้านที่มีอยู่ในชุมชนมากขึ้นและน่าจักมีความหมายมากกว่าการให้ใบประกอบโรคศิลปะ 6. การแก้ไขปัญหาสุขภาพโดยระบบการแพทย์นอกกระแสหลักในชนชั้นกลางและกลุ่มชนชั้นสูง ก่อให้เกิดศรัทธาอย่างลึกซึ้ง สามารถรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายได้อย่างเหนียวแน่น 7. การบูรณาการประเด็นต่างๆ ที่ยังติดขัดอยู่ในการแพทย์นอกกระแสหลักในแต่ละสาขาต้องสร้างกลไกเฉพาะ เชิญบุคคลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปมปัญหานั้นๆ มาร่วมกันระดมสมองและกำหนดแนวทางยุทธศาสตร์ร่วมกันทำงาน 8. การแพทย์นอกกระแสหลักต้องพัฒนาให้เกิดความชัดเจนหรือผสมผสานให้เกิดความชัดเจนทั้งระบบโรคและระบบดูแลสุขภาพ โดยมีเป้าหมายที่ชัดจนในการตอบสนองกลุ่มคนระดับใดและมีการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน การวิจัย อีกทั้งเวทีในการแสดงผลงานที่ทัดเทียมกัน 9. กลไกองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์นอกกระแสหลักแต่ละสาขา มีการประเมินผลทบทวนตนเองเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง และมีการนำเสนอผลงานวิชาการ นวัตกรรมสุขภาพ ให้เกิดการเรียนรู้และสร้างยุทธศาสตร์กระบวนการร่วมกันทุกปี