บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ รวมทั้ง แนวคิด หลักการ ปรัชญา ตลอดจนแนวทางการทำงาน เครื่องมือ เทคนิค และเงื่อนไขที่ส่งเสริม ข้อจำกัดของการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างพลังผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยใช้แนวคิดเรื่องกระบวนการผู้บริโภค อันประกอบด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และการเสริมสร้างพลังผู้บริโภค เป็นกรอบในการวิเคราะห์ พื้นที่ในการศึกษามีจำนวนทั้งสิ้น 8 ประเทศ สำหรับวิธีการที่นำมาใช้ในการศึกษา คือ เทคนิคการวิจัยจากเอกสาร ผลการศึกษา พบว่า กระบวนการผู้บริโภคในทุกประเทศให้ความสำคัญใน 2 ส่วน คือ การคุ้มครองผู้บริโภค และ การเสริมสร้างพลังผู้บริโภค ในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ผู้ที่มีบทบาทหลัก ได้แก่ ภาครัฐ โดยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่การเสริมสร้างพลังผู้บริโภค ในหลายประเทศองค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น รัฐจะมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการเสริมสร้างพลังขึ้นในผู้บริโภค สำหรับแนวทางในการเสริมสร้างพลังผู้บริโภคจะเน้นไปที่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของผู้บริโภค ในกรณีของบางประเทศ เช่น อินเดีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น มีมิติของการเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิ์และเรียกร้องให้เกิดการพิทักษ์ปกป้องสิทธิ์ของผู้บริโภคอย่างชัดเจน เมื่อวิเคราะห์เทคนิค เครื่องมือที่องค์กร/หน่วยงานต่างๆใช้ในการดำเนินการเพื่อการเสริมสร้างพลังผู้บริโภค พบว่า ในทุกประเทศให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาเป็นลำดับต้นๆนอกจากนี้แล้วยังมีการใช้เทคนิค เครื่องมืออื่นๆด้วย เช่น การประชุม สัมมนา การอบรม การศึกษาดูงาน การทำโครงการชุมชน การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ การวิจัย เป็นต้น ในส่วนของปัจจัยที่สนับสนุน และข้อจำกัดในการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างพลังผู้บริโภคนั้นมีมากมายหลากหลาย แปรเปลี่ยนไปตามบริบทและเงื่อนไขแวดล้อมของแต่ละประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ปัจจัยด้านการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม รวมทั้งทรัพยากรต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อการเสริมสร้างพลังผู้บริโภคทั้งสิ้น