บทคัดย่อ
รายงานฉบับนี้เป็นการติดตามสมรรถนะและสัมฤทธิผลของการดำเนินงานในระบบบริการสาธารณสุขและการคลังสุขภาพของสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2553 โดยทำการวิเคราะห์จากฐานข้อมูลทุติยภูมิสำคัญที่มีอยู่แล้ว คือฐานข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ผู้ป่วยในของผู้ป่วยในกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลตามตัวชี้วัดในแต่ละช่วงเวลา อาศัยกรอบแนวคิดและเครื่องชี้วัดเพื่อการติดตามประเมินระบบการคลังสุขภาพและระบบบริการสุขภาพ ที่ได้จากประชุมระดมสมองและกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในลักษณะของคณะทำงานที่มีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข องค์กรประกันสุขภาพ นักวิชาการ โดยคัดเลือกเฉพาะตัวชี้วัดสำคัญที่มีความไวพอที่จะสะท้อนสถานการณ์ของระบบบริการได้อย่างชัดเจน ทั้งสมรรถนะและคุณภาพของระบบบริการปฐมภูมิ บริการรักษาแบบผู้ป่วยใน การวิเคราะห์มีข้อค้นพบดังต่อไปนี้
(1) อัตราตายมาตรฐานโรงพยาบาล โรงพยาบาลที่มีค่านี้สูงในไตรมาส 3 คือ โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ในเขต 1 และ 2 โรงพยาบาลชุมชน ในเขต 1 (จังหวัดปทุมธานี, พระนครศรีอยุธยา, สระบุรี), 2 (จังหวัดลพบุรี, ชัยนาถ), 4 (จังหวัดสุพรรณบุรี, นครปฐม), และ 18 (จังหวัดนครสวรรค์, กำแพงเพชร, พิจิตร)
(2) อัตราการนอนโรงพยาบาลของโรคที่ควรควบคุมได้ด้วยบริการแบบผู้ป่วยนอก (Ambulatory care sensitive case, ACSC) ซึ่งอัตราที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงปัญหาคุณภาพของบริการปฐมภูมิที่ทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังมีอาการมากหรือควบคุมไม่ได้จนต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล ในไตรมาส 3 ของปีงบประมาณ 2553 โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ในเกือบทุกเขตส่วนใหญ่มีค่าสูงขึ้นต่อเนื่อง ในแต่ละเขตมีโรงพยาบาลชุมชนที่มีค่านี้สูง ประมาณครึ่งหนึ่งหรือเป็นส่วนใหญ่ เขตละ 1-2 จังหวัด
(3) ค่ามัธยฐานของ relative weight ของกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ซึ่งแสดงความซับซ้อนของโรคที่รับไว้เป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลทุกระดับในทุกเขต ปี 2553 ไตรมาส 3 มีค่าเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
(4) ค่ามัธยฐานของ adjusted relative weight ของกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม ซึ่งแสดงทรัพยากรที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยใน โรงพยาบาลทุกระดับในทุกเขต ปี 2553 ไตรมาส 3 มีค่าเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย
(5) ค่ามัธยฐานจำนวนวันนอนโรงพยาบาล ของการให้บริการผู้ป่วยในของโรงพยาบาลแต่ละระดับมีค่าคงที่ ในทุกช่วงเวลา
หมายเหตุ
เนื่องจากรายงานฉบับนี้เป็นรายงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการกำกับติดตามสถานการณ์ของการให้บริการสุขภาพ จึงเน้นที่ความรวดเร็วของการออกรายงาน ดังนั้นข้อมูลจึงอาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ เนื่องจากสถานบริการหลายแห่งยังส่งข้อมูลได้ไม่ครบถ้วน หรืออาจยังมีข้อผิดพลาด ดังนั้นดัชนี ที่แสดงในรายงานนี้จึงยังมิใช่ข้อสรุป ซึ่งจะมีการปรับแก้ต่อเนื่องในรายงานไตรมาสต่อไป และจะนำเสนอเป็นดัชนีประจำปีในรายงานวิเคราะห์ประเมินสมรรถนะระบบบริการสุขภาพประจำปีในขั้นสุดท้าย