บทคัดย่อ
ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยในปัจจุบันยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร เห็นได้จากผลการดำเนินงานที่แตกต่างกันมากในแต่ละจังหวัด โดยแนวทางหนึ่งที่สามารถใช้ในการพัฒนาระบบฯ ได้ คือ การนำตัวชี้วัดที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมาประยุกต์ใช้วัดประเมินผลการดำเนินงานของระบบฯ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวชี้วัดที่สามารถรองรับวิสัยทัศน์และแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ พ.ศ. 2551 – 2555 นอกจากนี้ตัวชี้วัดที่พัฒนาต้องสอดคล้องกับการดำเนินงานระดับปฏิบัติการเพื่อให้นำตัวชี้วัดไปใช้ได้จริง ในการศึกษาคณะวิจัยได้ใช้เครื่องมือ การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ โดยในกระบวนการสร้างแผนที่ยุทธศาสตร์ได้ใช้เครื่องมือ 2 ชนิด คือ Balanced Scorecard (BSC) และ Success Factor (SF) ซึ่งพบว่า SF จะมีความครอบคลุมในการวิเคราะห์มุมมองด้านต่างๆ มากกว่า BSC ผลจากการศึกษา คณะวิจัยได้พัฒนาแผนที่ยุทธศาสตร์ซึ่งสอดคล้องตามแผนยุทธศาสตร์ฯ ทั้ง 5 ด้าน และนำปัจจัยแห่งความสำเร็จไปวิเคราะห์ตัวชี้วัดได้ทั้งสิ้น 93 ตัวชี้วัด นอกจากนี้คณะวิจัยได้วิเคราะห์ตัวชี้วัดแยกตามมิติด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการใช้งาน เช่น มิติด้านปริมาณ คุณภาพ เวลา และความพึงพอใจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คณะวิจัยพบว่าตัวชี้วัดที่วิเคราะห์ได้ยังมีข้อบกพร่อง จึงกลั่นกรองตัวชี้วัด โดยพิจารณาคัดเลือกตัวชี้วัดที่ใช้วัดประเมินในระดับจังหวัดและสามารถใช้งานได้ในปัจจุบันเท่านั้น ได้ทั้งสิ้น 35 ตัวชี้วัด คณะวิจัยจึงนำตัวชี้วัดดังกล่าวมาประเมินตามเกณฑ์ที่คณะวิจัยพัฒนาขึ้นมา ผลจากการประเมินพบว่ามีตัวชี้วัด 9 ตัวชี้วัดจาก 35 ตัวชี้วัดที่มีประสิทธิผลในการนำไปใช้งานจริง ส่วนตัวชี้วัดที่เหลือยังมีปัจจัยบางประการที่ทำให้ไม่สามารถนำไปใช้ได้โดยตรง แต่หากมีการนำตัวชี้วัดดังกล่าวไปพัฒนา ปรับปรุง และแก้ไขก็จะสามารถนำไปใช้งานได้