บทคัดย่อ
การทบทวนสถานการณ์ระบบป้องกันควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2552 หมวดที่ 5 ฉบับนี้ได้ทำการรวบรวมสถานการณ์โรคและระบบควบคุมป้องกันโรคและปัจจัยคุกคามสุขภาพ มีข้อค้นพบ ดังนี้ ข้อค้นพบจาการศึกษาในประเด็นเรื่องสถานการณ์โรคและระบบควบคุมป้องกันโรคและปัจจัยคุกคามสุขภาพ คือ โครงสร้างอายุประชากรไทยกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ กลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดต่อปี โดยสาเหตุการตายและการเกิดภาระโรคที่พบมากที่สุดคือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต โรคติดต่อซึ่งเคยเป็นปัญหาสำคัญในอดีตมีบทบาทลดลงเมื่อเทียบกับโรคไม่ติดต่อ แต่ความซับซ้อนและความรุนแรงกลับเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนเฉพาะหรือตามพื้นที่ เช่น โรคเอดส์ รวมทั้งการกลับมาระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่เป็นระยะ การควบคุมและป้องกันโรคติดต่อในปัจจุบัน แม้ภาครัฐจะมีประสบการณ์และมีโครงสร้างรองรับอย่างเป็นระบบ แต่ยังพบข้อจำกัดเรืองของการให้ความรู้ประชาชน ความไม่ชัดเจนในนโยบายและแนวทางของผู้บริหาร ข้อค้นพบในประเด็นเรื่องความท้าทาย โอกาส ภัยคุกคามในระบบป้องกันควบคุมโรคและปัจจัยที่คุกคามสุขภาพ โดยอ้างอิงจากสาระในธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 พบว่าประเทศไทยมีโอกาสหลายด้านในการรับมือกับปัญหาที่มากขึ้น เริ่มจากการมีแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติทั้งแบบบูรณาการและแบบเฉพาะประเด็นรองรับการขับเคลื่อนเรื่องการควบคุมและปัองกันโรค ซึ่งมีความสอดคล้องกับเอกสารนโยบายที่สำคัญของประเทศฉบับต่างๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 การทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ มีมากขึ้น การกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ภูมิภาคเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสามารถในการดูแลประชาชนในภาพรวมดีขึ้น ประชาชนมีความตระหนักในเรื่องของสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและเริ่มมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อส่วนรวม นอกจากโอกาสจากปัจจัยภายในประเทศแล้ว การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาพจากภายนอกประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติ ยังเป็นแรงกดดันเชิงบวกต่อการดำเนินงานของหน่วยงานภายในประเทศด้วย ส่วนภัยคุกคามที่ควรต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งคือ กระแสสังคมแบบทุนนิยมและพฤติกรรมของคนในยุคโลกาภิวัฒน์ การพึ่งพิงเทคโนโลยีในชีวิตความเป็นอยู่ รวมไปถึงการผลิตทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การเปิดเขตการค้าเสรีที่มากขึ้น ทั้งประชาคมเสรีอาเซียนและ FTA ส่งผลให้เกิดความไม่มีเอกภาพในเรื่องนโยบายสุขภาพของรัฐบาล เพราะได้รับความสนใจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งที่ระบบราชการเป็นโครงสร้างหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสุขภาพ ปัญหากลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ประเทศได้ง่ายขึ้นในอนาคต นำมาซึ่งการพึ่งพิงด้านงบประมาณในการป้องกันและควบคุมโรค