บทคัดย่อ
นโยบายเขตบริการสุขภาพ ซึ่งเริ่มดำเนินการเมื่อ พ.ศ. 2555 นับเป็นอีกก้าวแห่งความพยายามพัฒนาระบบบริการสุขภาพในขอบเขตความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ภายหลังความพยายามซึ่งมีมาเป็นระลอก ดังตัวอย่างนโยบายพัฒนาบริการสาธารณสุข (พบส.) ในอดีตเมื่อกว่าสองทศวรรษมาแล้ว ความพยายามครั้งนี้ แตกต่างจากในอดีตตรงที่ฝ่ายนโยบายมุ่งหมายให้กลุ่มจังหวัดหรือเขตบริการสุขภาพพึ่งตนเองด้านการรักษาพยาบาลให้ได้มากที่สุด นั่นคือพยายามลดการส่งต่อคนไข้ออกนอกเขต ขณะเดียวกันการดำเนินนโยบายลักษณะทำไปคิดไปปรับไป ได้เกิดแนวคิดล่าสุดที่จะจัดตั้ง national health authority เพื่อยกระดับความเป็นเอกภาพในระบบบริการสุขภาพทั้งประเทศ นอกจากนั้นการดำเนินนโยบายเป็นไปท่ามกลางความผันผวนทางการเมืองและการบริหารในประเทศและภายในกระทรวงสาธารณสุขเอง (ที่เด่นชัดคือความขัดแย้งระหว่างผู้กำหนดนโยบายกระทรวงสาธารณสุขกับแพทย์ชนบทจำนวนหนึ่ง วิกฤตรัฐบาลยิ่งลักษณ์และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) จนทำให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหมดวาระลงก่อนกำหนดภายหลังการรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม2557 รายงานนี้นำเสนอผลการติดตามนโยบายเขตบริการสุขภาพ เพื่อตอบวัตถุประสงค์ 3 ประการสำคัญ ได้แก่ 1. เพื่อประเมินความเข้าใจต่อแนวคิดเขตสุขภาพ และ service plan ของผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกระทรวงสาธารณสุข ตลอดจนการสนับสนุนเชิงนโยบายเพื่อสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว 2. เพื่อศึกษาและพัฒนาองค์ประกอบของภาวะผู้นำและธรรมาภิบาลในการพัฒนาการบริหารจัดการระบบซื้อบริการและจัดบริการสุขภาพในระดับเขตทั้ง 13 เขต 3. เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความเป็นธรรม ในการจัดสรรทรัพยากรของส่วนกลาง รวมถึงการซื้อและจัดบริการสุขภาพของพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยเก็บข้อมูลด้วย 4 วิธี ได้แก่ ก) การสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นกว่า 100 คน ได้แก่ บุคคลประเภทต่อไปนี้ ผู้ตรวจราชการในฐานะซีอีโอของแต่ละเขต chief officers, regulators ทีมสำนักงานเขตบริการสุขภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และทีม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และทีม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และทีม แพทย์เฉพาะสาขาซึ่งได้รับมอบหมายเป็นประธาน service plan สาธารณสุขอำเภอ พยาบาลและเภสัชกร รพศ./รพท. กรรมการคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพเขต (อปสข.) บุคลากรประจำศูนย์วิชาการเขตของกรม ข) สังเกตการประชุมคณะทำงานของเขตบริการสุขภาพและ อปสข. รวมกัน 8 ครั้ง และการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเขต เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2557 ค) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณของ สปสช. ง) การทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายงานแยกเป็นสามบท บทที่ 1 ตอบสามวัตถุประสงค์ดังกล่าว บทที่ 2 กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงภายหลังการดำเนินนโยบายเขตบริการสุขภาพ ประกอบด้วย ผลการถ่ายทอดนโยบายในภาพรวมและกรณีศึกษา 4 กรณี ได้แก่ ก) บริการผู้บาดเจ็บ/ห้องฉุกเฉิน/บริการกู้ชีพ ข) บริการควบคุมป้องกันเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ค) การติดเชื้อ HIV/Aids ของกลุ่มวัยทำงาน ง) ทารกแรกเกิดที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและระบบบริการสุขภาพในระดับเขต บทที่ 3 สรุปข้อค้นพบสำคัญและข้อเสนอแนะทางนโยบาย พร้อมกันนี้ รายงานยังได้รวมภาพพึงประสงค์ของระบบบริการสุขภาพระดับเขตในภาพรวม (ต่อท้ายบทสรุปสำหรับผู้บริหาร) ซึ่งได้จากนำเสนอผลการติดตามและยกร่างภาพพึงประสงค์ฯ เพื่อหารือผู้เกี่ยวข้องดังกล่าวแต่แรก