บทคัดย่อ
จากผลการวิจัย QUM ระยะที่ 1 การประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ยา ได้รายการยาที่มีความเสี่ยงในการใช้สำหรับผู้สูงอายุไทย จำนวน 8 กลุ่มยาตามเภสัชวิทยา 42 กลุ่มยาย่อย หรือทั้งหมด 76 รายการยา ซึ่งพัฒนาจาก Beers criteria (2012) และ (STOPP) (2008) ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญได้เสนอแนะ ให้ทำการพัฒนาโปรแกรมหรือระบบสารสนเทศที่มีการนำรายการยานี้มาใช้เพื่อพิจารณาคัดกรองก่อนการสั่งใช้ยา อันจะทำให้รายการยาที่เสี่ยงก่อประโยชน์ได้จริงในโรงพยาบาล งานวิจัยในระยะที่ 2 จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรม และการนำโปรแกรมมาใช้คัดกรองและลดการสั่งใช้ยาที่เสี่ยงและอันตรายสำหรับผู้ป่วยสูงอายุไทย และประเมินการตอบสนองของแพทย์และเภสัชกรต่อการนำโปรแกรมมาใช้ในโรงพยาบาล ประเมินผลลัพธ์คือปริมาณการสั่งยาที่เสี่ยงสำหรับผู้สูงอายุต่อใบสั่งยาที่เปลี่ยนแปลงเมื่อมีการใช้โปรแกรม เพื่อให้มองภาพทิศทางของประเทศต่อการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use, RDU) ในการศึกษาครั้งนี้จึงได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึก โดยใช้แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงร่าง (Semi-structured Interview) และการบันทึกเสียงระหว่างการสัมภาษณ์ ในผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ จำนวน 4 คน จาก 3 ระดับ คือ ระดับมหภาค จำนวน 2 คน ผู้บริหารระดับกลาง จำนวน 1 คน และระดับย่อยหรือระดับท้องถิ่น จำนวน 1 คน ผลการสัมภาษณ์สรุปได้ว่า นโยบาย RDU ของประเทศไทยยังมีความไม่ชัดเจนตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับกลางและระดับท้องถิ่น แต่มีสถานบริการสุขภาพส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก ที่มีการดำเนินนโยบาย RDU และมีการนำนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน กระทรวงสาธารณสุขหรือผู้กำหนดนโยบายในระดับประเทศ อาจใช้ข้อมูลจากมูลค่าการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลต่องบประมาณด้านสุขภาพทั้งหมด และประกาศเป็นนโยบายที่เร่งด่วนเพื่อลดมูลค่าการสูญเสียงบประมาณจากการใช้ยาที่ไม่สมเหตุผลลง นอกจากนี้ นโยบาย RDU อาจดำเนินการควบคู่ไปกับแนวคิดด้านการส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพและการป้องกันโรคได้ เพราะการนำนโยบาย RDU ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และส่วนหนึ่งต้องมาจากความร่วมมือของครอบครัวและคนในชุมชนในการมีส่วนร่วมเพื่อดูแลผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การประกาศใช้นโยบาย RDU ประกอบด้วยปัจจัยหลายด้านและบุคลากรขับเคลื่อนในลักษณะสหสาขาวิชาชีพ ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้มารับบริการ รวมถึงชุมชน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมในแต่ละภาคส่วนให้เข้าใจความสำคัญของนโยบาย RDU สร้างความชัดเจนของตัวนโยบายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ แนวทางการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ การสนับสนุนทรัพยากรในด้านต่างๆ และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในความร่วมมือเพื่อทำให้นโยบาย RDU เป็นรูปธรรมและส่งผลระยะยาวต่อการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่สมเหตุผลด้านยา เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือการมีสุขภาพดีของประชาชนโดยใช้ยาอย่างสมเหตุผล