บทคัดย่อ
ประเทศไทยมีปัญหาการขาดแคลนนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายซึ่งได้แก่ นักแก้ไขการได้ยิน และนักแก้ไขการพูด อย่างมาก อัตราส่วนของจำนวนนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายต่อจำนวนประชากรที่ค่อนข้างต่ำ และมีการกระจายตัวไม่เหมาะสม ทำให้การพัฒนางานบริการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของการสื่อความหมายทั้งด้านการได้ยินหรือการพูดไม่ก้าวหน้า ในขณะที่จำนวนผู้พิการทางการได้ยินและการสื่อความหมายที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการการตรวจวินิจฉัยและฟื้นฟูสมรรถภาพเพิ่มจำนวนสะสมขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ระยะวิกฤต การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาแนวทางที่เป็นไปได้ในการเพิ่มจำนวนนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายและมาตรการที่เหมาะสม ในการจูงใจให้บุคลากรดังกล่าวเข้าทำงานในภาครัฐและมีการกระจายตัวไปตามภูมิภาคต่างๆ การวิจัยนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงสำรวจ (Exploratory study) โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม (Mixed method) ซึ่งประกอบด้วย การวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถาม สำหรับกลุ่มนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย ผู้บริหารหน่วยงานที่มีนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายสังกัด นักศึกษาหลักสูตรเวชศาสตร์การสื่อความหมายทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และผู้รับบริการจากนักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย ในส่วนการสัมภาษณ์เชิงลึกได้ทำการเก็บข้อมูลจากผู้บริหารหลักสูตรเวชศาสตร์การสื่อความหมาย โสต ศอ นาสิกแพทย์ นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย และผู้บริหารที่กำหนดนโยบายและอัตรากำลังพลด้านสาธารณสุข ผลการศึกษาในเชิงปริมาณพบว่า นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายเมื่อจบการศึกษาแล้วมีแนวโน้มที่จะอยากรับราชการในสถานพยาบาลของรัฐมากกว่าเอกชน โดยจะเลือกทำงานในโรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์หรือมหาวิทยาลัย ตามลำดับ ปัจจัยที่มีผลต่อการทำงานคือ ผู้ร่วมงานที่ดี มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และแรงจูงใจในการเลือกที่ทำงาน คือ ความมั่นคง ความก้าวหน้าในการทำงาน และโอกาสในการศึกษาต่อ นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายมีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพ ส่วนใหญ่ทำงานในอาชีพนี้เพราะได้ช่วยเหลือผู้ป่วย ในส่วนของรายได้ไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเลือกที่ทำงาน สวัสดิการที่ได้รับจากหน่วยงาน ได้แก่ งบประมาณในการประชุมวิชาการ และที่พักอาศัย หากมีการกำหนดตำแหน่งนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายในโรงพยาบาลจังหวัดหรือโรงพยาบาลศูนย์ น่าจะเป็นการแก้ปัญหาการกระจายตัวได้ทั้งโสต ศอ นาสิกแพทย์ นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย และผู้รับบริการ มีความเห็นตรงกันว่า ควรเพิ่มจำนวนนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายโดยเฉพาะในระดับปริญญาตรี แต่พบว่าคุณลักษณะของ นักเวชศาสตร์การสื่อความหมายที่ผู้รับบริการต้องการอาจไม่สอดคล้องกับทักษะความรู้ความสามารถของบัณฑิตระดับปริญญาตรี จึงควรมีการพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่วนกลไกที่ช่วยสนับสนุนให้มีนักเวชศาสตร์การสื่อความหมายเพิ่มขึ้นคือ การผลักดันให้มีตำแหน่งและความก้าวหน้าในการทำงาน กำหนดกรอบตำแหน่งในระดับสูงขึ้น เพิ่มเงิน พตส. ให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษา สมาคมวิชาชีพและสถาบันผลิตบัณฑิตควรเป็นผู้ที่มีบทบาทในการผลักดันกลไกนี้