บทคัดย่อ
การศึกษาและการประเมินความต้องการทางสุขภาพในเชิงระบาดวิทยาของกลุ่มโรคที่มีต่อ Hospice care ในประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงสังเคราะห์เพื่อการพัฒนาระบบบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยระยะท้าย (Hospice care) ในประเทศไทย ซึ่งการศึกษาประกอบด้วยการทบทวนวรรณกรรมทางระบาดวิทยาที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มโรคเป้าหมายในประเทศไทย รวมถึงการสนทนากลุ่ม การประชุมคณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อกำหนดประเด็นการศึกษาและการประเมินความต้องการทางสุขภาพในเชิงระบาดวิทยาของกลุ่มโรคที่มีต่อ Hospice care ในประเทศไทย จากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลการเบิกจ่ายผู้ป่วยในของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ในระหว่างปี พ.ศ.2554-2558 พบว่า มีจำนวนครั้งที่มีการรับเข้ารักษาในแผนกผู้ป่วยในทั้งสิ้น 37,643,295 ครั้ง หากพิจารณาในกลุ่มโรคที่ต้องการดูแลระยะท้าย (Hospice care) มีการรับเข้ารักษาและได้รับการวินิจฉัยมะเร็ง (C00-D48) รองลงมาได้รับการวินิจฉัย Chronic obstructive pulmonary diseases (J44) และ Congestive heart failure (I50) ตามลำดับ หากพิจารณาการวินิจฉัยโรคหลักเป็นกลุ่ม (Primary Diagnosis) จากกลุ่มโรคที่ต้องการดูแลระยะท้าย (Hospice care) นั้น พบว่า การวินิจฉัยเป็นมะเร็ง (C00-D48) ยังคงมีจำนวนครั้งที่มารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยในสูงสุด รองลงมาการได้รับการวินิจฉัยเป็น Chronic obstructive pulmonary diseases (J44) และ Congestive heart failure (I50) ตามลำดับ เช่นกัน จากข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในแผนกผู้ป่วยใน โดยพิจารณาจากครั้งสุดท้ายที่รับเข้ารักษามีจำนวนทั้งสิ้น 17,985,110 คน พบว่าสัดส่วนการเสียชีวิตสูงสุดพบในผู้ป่วยที่ได้รับภาวะไตวาย (N185, N189) รองลงมาเป็น Congestive heart failure (I50) และ Dementia, Alzheimer’s disease and other dementias (F00-F03, G30) ตามลำดับ แต่หากพิจารณาจากการวินิจฉัยหลัก พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยด้วย HIV/AIDS (B20-B24) มีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงสุด รองลงมาเป็นภาวะไตวาย (N185, N189) และมะเร็ง (C00-D48) ตามลำดับการประมาณการการเข้ารับบริการตามกลุ่มโรคที่ต้องการดูแลระยะท้าย ด้วยอัตราในระดับต่างๆ กัน พบว่าหากประมาณการด้วยจำนวนที่เสียชีวิตและอาการที่ไม่ดีขึ้นเฉลี่ยต่อปี หรือแม้กระทั่งจำนวนที่เสียชีวิตเพียงอย่างเดียว มะเร็ง (C00-D48) ยังคงเป็นโรคที่มีภาระของผู้มารับบริการเฉลี่ยต่อปีสูงสุดในการรับเข้ารักษาครั้งสุดท้ายในแผนกผู้ป่วยใน จำแนกตามการวินิจฉัยกลุ่มโรคที่ต้องการดูแลระยะท้าย พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็ง (C00-D48) มีจำนวนวันนอนเฉลี่ยต่อปีสูงสุด รองลงมาการวินิจฉัยด้วย Congestive heart failure (I50) และ Chronic obstructive pulmonary diseases (J44) เช่นเดียวกับการวินิจฉัยหลัก ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยหลักเป็นมะเร็ง (C00-D48) ยังคงจำนวนวันนอนเฉลี่ยต่อปีสูงสุด รองลงมาการวินิจฉัยด้วย Chronic obstructive pulmonary diseases (J44) และ HIV/AIDS (B20-B24) ตามลำดับ