บทคัดย่อ
รายงานผลของการออกกำลังและการบริโภคอาหารต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นโครงการต่อเนื่อง ปีที่ 2 มีโครงการวิจัยย่อยภายใต้แผนงานวิจัย 2 โครงการ คือ โครงการที่ 1 การศึกษาอุบัติการณ์และปัจจัยที่สัมพันธ์กับโรคสมองเสื่อม โรคไตวายเรื้อรัง โรคเบาหวาน และหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานี โดยใช้ข้อมูลจากการตรวจสุขภาพประจำปีและเวชระเบียน และโครงการที่ 2 ผลของการปรับเปลี่ยนกิจกรรมทางกายและอาหารต่อการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือดในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานี ผลการศึกษาเบื้องต้นในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาของงานวิจัยนี้ แสดงให้เห็นว่าอุบัติการณ์หรืออัตราการเกิดของโรคไตเรื้อรังที่วินิจฉัยในระบบบริการสุขภาพปกติในประชากรไทยนั้นมีไม่สูงนัก อย่างไรก็ตามพบว่าอุบัติการณ์ของโรคไตเรื้อรังสูงขึ้นตามอายุ นั่นคือยิ่งอายุมากความเสี่ยงในการเกิดโรคยิ่งสูง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรังสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นโรคอย่างมาก และพบว่าการบริโภคอาหารเค็มจัดเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคไตเรื้อรัง คนที่มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอมากกว่า 3-5 วันต่อสัปดาห์มีอุบัติการณ์ของโรคน้อยลง ผลการศึกษาอุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพฤกษ์อัมพาตในประชากรไทยในจังหวัดอุบลราชธานีมีค่าใกล้เคียงกับข้อมูลในประเทศตะวันตก และพบว่ามีปัจจัยหลายอย่างมีสัมพันธ์กับความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ ปัจจัยเหล่านั้น ได้แก่ อายุที่มากขึ้น เพศชาย โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ระดับความดันโลหิต ระดับดัชนีมวลกาย เส้นรอบเอว และการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ จากข้อมูลดังกล่าว ผู้วิจัยได้พัฒนาเครื่องมือทำนายความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มเติมจากเครื่องมือทำนายความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในปีที่ 1 ของการศึกษา ประชาชนทั่วไปสามารถใช้ข้อมูลที่ทราบและหาได้ง่ายไปใช้ในการคำนวณว่าโอกาสที่ตนเองจะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตใน 5 ปีข้างหน้าคิดเป็นร้อยละเท่าไร ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการทราบว่าตนเองนั้นเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหรือไม่ และอาจช่วยส่งเสริมให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองต่อไป นอกจากนี้ ทีมผู้วิจัยได้พัฒนาให้ประชาชนสามารถอ่านข้อมูลคำแนะนำการปฏิบัติตนที่จำเพาะกับระดับความเสี่ยงของตนเอง และยังสามารถทดลองปรับเพิ่มลดปัจจัยต่างๆ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของการจัดการกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในการช่วยลดความเสี่ยงของโรคได้ด้วย จากกระบวนการวิจัยในการศึกษาผลของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพต่อการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อม โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด ทีมผู้วิจัยได้เก็บข้อมูลในปีที่ 2 ของงานวิจัย แม้ว่าจะมีความล่าช้าในกระบวนการเก็บข้อมูลบ้าง ทีมผู้วิจัยได้มีการปรับกระบวนการในการเก็บข้อมูลผลลัพธ์การเกิดโรคเพื่อให้ได้ข้อมูลมาวิเคราะห์ผลหลังจากหมู่บ้านกลุ่มทดลองได้ดำเนินการกิจกรรมทดลองได้ค่อนข้างครบถ้วนแม้ว่าจะได้รับในระยะเวลามานานนักก็มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของตัวชี้วัดทางเมตาบอลิก นั่นคือ ระดับไขมันดีหรือ เอชดีแอล คอเลสเตอรอล เพิ่มขึ้น และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอาสาสมัครกลุ่มทดลอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบความแตกต่างในการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดระหว่างหมู่บ้านกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม สิ่งหนึ่งที่อธิบายผลลัพธ์ที่ยังไม่พบความแตกต่างดังกล่าว น่าจะเป็นระยะเวลาประเมินผลลัพธ์น่าจะสั้นเกินไป การเก็บข้อมูลและติดตามผลลัพธ์ในอาสาสมัครทั้งสองกลุ่มหมู่บ้านน่าจะนำไปสู่ผลที่ชัดเจนขึ้นต่อไป