บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ความชุกของเด็กพิการและการเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษาและสวัสดิการของรัฐสำหรับเด็กพิการในชุมชนเป็นการวิจัยแบบผสมผสาน โดยข้อมูลเชิงปริมาณได้มาจากการสำรวจเด็กพิการในชุมชนและตรวจประเมินความพิการโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยา เพื่อประมาณการความชุกของเด็กที่มีความพิการ 7 ประเภทในช่วงอายุ 2½-12 ปี เด็กทุกคนใน 9 ตำบลที่สุ่มเลือกจาก 9 จังหวัดตัวอย่างซึ่งสุ่มจากทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ระหว่างเดือน ต.ค. 2557-ก.ค. 2558 จำนวนเด็กที่สำรวจทั้งสิ้น 6,334 คน ขณะที่ข้อมูลเชิงคุณภาพได้มาจากการเยี่ยมบ้าน การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมและการสนทนากลุ่มกับผู้ปกครอง ครูของเด็กที่ถูกประเมินว่าพิการ ผู้นำชุมชนและบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อศึกษาความต้องการและปัญหาการจัดบริการสำหรับเด็กพิการ ผลการวิจัยพบว่า เด็กช่วงอายุ 2 ปีครึ่งถึง 12 ปีร้อยละ 13 มีความพิการอย่างน้อย 1 ด้าน ซึ่งพบความพิการทางการเรียนรู้มากที่สุด ร้อยละ 21 มีปัญหาทางกายหรือทางพฤติกรรมหรือทางจิตใจและร้อยละ 66 ไม่พบความผิดปกติ ระบบการดูแลสุขภาพเด็กพิการในแต่ละพื้นที่มีความพร้อมแตกต่างกันขึ้นกับจำนวนบุคลากร และบริการขึ้นกับประเภทของบุคลากรที่มี โรงพยาบาลชุมชนมีโครงสร้างตำแหน่งที่ไม่เอื้อต่อการมีวิชาชีพเฉพาะในการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ ทั้งๆ ที่มีนโยบายการจัดบริการให้กับเด็กพิการ นอกจากนี้ยังพบว่า คำว่า “พิการ” ทำให้เกิดการไม่ยอมรับจากผู้ปกครองกลุ่มที่มีเศรษฐฐานะดีหรือมีการศึกษาสูง คือมักจะปฏิเสธการถูกระบุว่าลูกมีความพิการ จากการเปรียบเทียบผลการวิจัยกับฐานข้อมูลเด็กพิการระดับประเทศของ 3 หน่วยงานเพื่อประมาณการการเข้าถึงบริการของเด็กพิการคือ ฐานข้อมูลการจดทะเบียนคนพิการ (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) ฐานข้อมูลการใช้บริการทางการแพทย์ (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และฐานข้อมูลการศึกษา (สำนักบริหารการศึกษาพิเศษ) พบว่า ในการสำรวจนี้พบปริมาณของเด็กที่มีความพิการในชุมชนมากกว่าฐานข้อมูลอย่างชัดเจน สะท้อนว่ายังมีการเข้าไม่ถึงบริการภาครัฐสำหรับเด็กพิการ และอุปสรรคในการเข้าถึงบริการนั้นก็มีหลากหลายมิติ ปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงบริการ เช่น การแยกส่วนกันทำงานของหน่วยงาน การเข้าถึงยาก ความยากจน ความเชื่อทางวัฒนธรรม การไม่ใส่ใจของชุมชน ภาครัฐควรมีการทบทวนนโยบายระดับประเทศอย่างเร่งรัดเพื่อให้สามารถค้นหาเด็กพิการได้มากขึ้น และควรเชื่อมโยงประเด็นความพิการเข้ากับนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน
บทคัดย่อ
This study aims to determine situation of the prevalence of disabilities and the accessibility to health, education and social services of children with disabilities in the communities of Thailand. Mixed-methods of data collection were used. A community survey by a team of psychiatrists and clinical psychologists was conducted to estimate the prevalence of 7 disabilities in children aged between 2½ and 12 years in nine sub-districts of nine sampled provinces (except Bangkok) during October 2014-July 2015. Altogether, 6,334 children were investigated. Qualitative data were collected from home visit, in-depth interview, non-participant observation, and focus group discussion with parents and teachers of the children identified as having disability, and also with health care providers to explore problems of unmet demands. Results show that 66% of children aged 2½-12 were found normal, yet, 13% had at least one disability of which learning disability was most prevalent, and 21% with physical, psychological or behavioral problems. The availability of health services for children with disabilities in each area varied due to inadequacy or lack of type of health professionals. Community hospital is not allowed to recruit rehabilitation specialists, though policy on disability service provision is assigned to. The study also found that the term “disability” contained stigma connotation and was rejected by well-to-do and educated parents. When compared with the accessibility to service database of the Ministry of Social Development and Human Security, the National Health Security Office, and the Ministry of Education, this study showed much higher number children with disability in communities reflecting that there are still more unregistered children and inaccessible to necessary public services. The un-integrated and difficult-to-access service structure, poverty, cultural beliefs, and social unawareness are among factors that cause unmet demands. Main recommendations for concerned agencies are an urgent policy and program to increase access to care to reduce unmet need in children with disabilities and the integration of disability policy into the strategy to reduce poverty.