บทคัดย่อ
การผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเป็นการรักษาทางเลือกเดียวในปัจจุบัน ซึ่งมุ่งแก้ไขความพิการทางการได้ยินของผู้ที่มีปัญหาการได้ยินทั้งสองข้างในระดับหูหนวกสนิทได้ แต่เนื่องจากการผ่าตัดชนิดนี้โดยเฉพาะอุปกรณ์ประสาทหูเทียมมีค่าใช้จ่ายสูงถึงเกือบหนึ่งล้านบาทต่อชุดอุปกรณ์ และการผ่าตัดมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงทำให้มีโอกาสถูกฟ้องร้องสูง อีกทั้งความสำเร็จของการผ่าตัดต่อการเพิ่มความสามารถทางการได้ยิน การสื่อสารและคุณภาพชีวิตยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ระดับการได้ยินก่อนผ่าตัด สาเหตุและพยาธิสภาพของหูชั้นใน เส้นประสาทหูและสมองส่วนการได้ยิน ระยะเวลาตั้งแต่สูญเสียการได้ยินจนถึงการผ่าตัด พัฒนาการและการใช้ภาษาพูด ประสบการณ์ในการใช้เครื่องช่วยฟัง หรือการได้รับการฝึกฟังและฝึกพูดมาก่อน ความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ความคาดหวังและความพร้อมในการติดตามการรักษา คุณลักษณะทางเทคนิคของอวัยวะเทียม เช่น จำนวนอิเล็กโทรดและซอฟแวร์ของเครื่องประมวลเสียง ทางราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย ได้จัดทำร่างเกณฑ์มาตรฐานการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมขึ้น และต้องการให้เกิดมีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบโดยการลงทะเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดจากโรงพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศและการติดตามผลในระยะยาว ทั้งด้านผลตรวจการได้ยิน ความสามารถในการฟังเสียงพูดและการใช้ภาษา รวมถึงค่าใช้จ่ายและผลลัพธ์ที่เป็นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยก่อนและหลังการผ่าตัด เพื่อจะทำให้ได้ฐานข้อมูลที่มากเพียงพอ ต่อการประเมินประสิทธิภาพความปลอดภัยและปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการผ่าตัดและสามารถใช้สำหรับการวางนโยบายทางสุขภาพระดับประเทศในเรื่องนี้ต่อไป รายงานประจำปีฉบับนี้ได้รวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 2559 จนถึง 15 กันยายน 25621. รายงานสถานะของทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562 มีข้อมูลผู้ป่วยในระบบทั้งหมด 357 คน แบ่งเป็นเพศชาย 189 คน (ร้อยละ 52.94) และเพศหญิง 168 คน (ร้อยละ 47.06) อายุเฉลี่ย 38.71 ± 23.32 ปี ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ (ร้อยละ 45.21) หากพิจารณาในเด็กส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุ 2-4 ปี ที่ได้รับการประเมินเพื่อผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม (ร้อยละ 19.14) สาเหตุของความพิการทางหูส่วนใหญ่เกิดภายหลังคลอด (ร้อยละ 60) ที่เหลือเป็นแต่แรกเกิด (ร้อยละ 40) โดยเด็กที่เป็นแต่แรกเกิดส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุ (ร้อยละ 38) สาเหตุของความพิการที่พบบ่อยที่สุด คือ หลังการติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง (meningitis) พบร้อยละ 15.77 ระดับการได้ยินของผู้ป่วยเฉลี่ยของผู้ป่วยเท่ากับ 100 เดซิเบล คือ ระดับความพิการชนิดหูหนวก (> 90 เดซิเบล) ระดับความสามารถในการสื่อสาร (CAP Score) ของผู้ป่วยส่วนใหญ่อยู่ในระดับ 0 คือ ไม่สามารถรับรู้หรือตอบสนองต่อเสียงในสิ่งแวดล้อมได้เลย 2. วิเคราะห์ผลการใส่ประสาทหูเทียมจากข้อมูลในทะเบียนประสาทหูเทียมในประเทศไทยหลังการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียม ระดับการได้ยินที่ 500-4000 Hz ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนแรกหลังผ่าตัดและดีขึ้นถึงระดับประสาทหูเสื่อมเล็กน้อยในเดือนที่ 3 ระดับการได้ยินเสียงพูดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่เดือนแรกหลังผ่าตัดสู่ระดับประสาทหูเสื่อมเล็กน้อย ระดับการจำแนกคำเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ หลังผ่าตัด โดยเริ่มคงที่อยู่ในระดับสามารถสื่อสารได้ตั้งแต่เดือนที่ 6 หลังการผ่าตัด ส่วนใหญ่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน ส่วนน้อยที่มีปัญหาหน้าเบี้ยว วิงเวียน หรือประสาทหูเทียมหลุด 3. การวิเคราะห์เกณฑ์การเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง เมื่อนำข้อมูลผู้ป่วยมาประเมินตามเกณฑ์การเบิกจ่ายของกรมบัญชีกลาง พบว่าในผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 15 ปี ส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง (ร้อยละ 82.35) โดยผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจะมีเกณฑ์ที่ต้องพิจารณาเพียงข้อเดียว คือ มีประสาทหูเสื่อมหรือพิการทั้ง 2 ข้าง มีระดับการได้ยินตั้งแต่ 80 เดซิเบลขึ้นไป ส่วนผู้ป่วยจากสาเหตุอื่นๆ ที่อายุมากกว่าหรือเท่ากับ 15 ปี ส่วนใหญ่ผ่านเกณฑ์ “ประสาทหูเสื่อมหรือพิการทั้ง 2 ข้าง มีระดับการได้ยินตั้งแต่ 80 เดซิเบลขึ้นไป” (ร้อยละ 85.45) แต่มักไม่ผ่านเกณฑ์ “ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยและมีค่าคะแนนการแยกคำพูดได้น้อยกว่าร้อยละ 50” มีผู้ป่วยที่ผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 5.45 ทำให้ผู้ป่วยรวมที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดเหลือเพียง 5 ราย ใน 110 ราย (ร้อยละ 4.54) ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี ส่วนใหญ่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ “การตอบสนองของเสียงผ่านก้านสมอง โดยระดับการได้ยินตั้งแต่ 90 เดซิเบลขึ้นไป” เท่ากับร้อยละ 82.91 และไม่ผ่านเกณฑ์ “มีการฟื้นฟูสมรรถภาพการฟังพูดมาก่อนและได้ผลน้อยจากการใช้เครื่องช่วยฟัง” โดยมีผู้ที่ผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 15.12 ทำให้มีผู้ผ่านเกณฑ์ทั้งสองข้อเพียง 15 รายใน 117 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.82 ในผู้ป่วยอายุมากกว่า 5 ปี แต่น้อยกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ “การวัดการได้ยินดูการตอบสนองของเสียงจากการตรวจการได้ยิน ตั้งแต่ 80 เดซิเบลขึ้นไป หรือการตรวจก้านสมอง โดยมีระดับการได้ยินตั้งแต่ 90 เดซิเบลขึ้นไป” เท่ากับร้อยละ 95.59 แต่ทั้งหมดไม่ผ่านเกณฑ์ข้อสอง คือ “ใช้เครื่องช่วยฟังไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยและมีค่าคะแนนการแยกคำพูดได้น้อยกว่าร้อยละ 50” ทำให้ในกลุ่มผู้ป่วยอายุมากกว่า 5 ปี แต่น้อยกว่า 15 ปี ไม่มีใครผ่านเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางเลย การประเมินความพร้อมทั่วไปของกรมบัญชีกลางมีจำนวนทั้งหมด 3 ข้อ ส่วนใหญ่จะผ่านเกณฑ์ข้อแรกและข้อที่สาม คือ “มีสุขภาพดี ไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด” และ “สามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินหลังการผ่าตัดและติดตามผลเป็นระยะได้” เท่ากับร้อยละ 86.47 และ 99.06 ตามลำดับ ส่วนเกณฑ์ข้อที่สาม คือ “มีสุขภาพจิตและสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือต่ำกว่าปกติเล็กน้อย” กลับพบว่ามีผู้ที่ผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 6.60 4. การพิจารณาเกณฑ์การเบิกจ่ายใหม่ของคณะอนุกรรมการหู ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย จากรายงานผลของการใส่ประสาทหูเทียมและผลการวิเคราะห์ผู้ป่วยตามเกณฑ์ของกรมบัญชีกลาง ทางคณะผู้วิจัยได้ร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมการหู ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทยและได้แนวทางการปรับเกณฑ์การผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมใหม่ 5. การปรับปรุงฐานข้อมูลทะเบียนฐานข้อมูลได้เพิ่มเติมในส่วนของการติดตามคุณภาพภายใน ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปดูข้อสรุปข้อบ่งชี้ของผู้ป่วยแต่ละรายได้ว่าผ่านเกณฑ์ของกรมบัญชีกลางหรือไม่ โดยหากผ่านเกณฑ์จะมีเครื่องหมายถูกสีเขียวขึ้นในรายงาน ผู้ใช้งานสามารถใส่ email ของแพทย์ผู้รักษาและของผู้ป่วยเข้าไปในระบบ เพื่อให้มี email แจ้งเตือนก่อนถึงวันนัดได้ 1 สัปดาห์ และในแต่ละสถานพยาบาลจะมีตารางแยกเพื่อให้สามารถดูข้อมูลเฉพาะส่วนของตนเอง นอกจากภาพรวม