บทคัดย่อ
การประเมินความชุกพฤติกรรมเสี่ยงและการพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานในกลุ่มประชากรชาวไทยภูเขา ประเทศไทย มุ่งศึกษาความชุก พฤติกรรมเสี่ยงและปัจจัยที่สัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน ในกลุ่มประชากรชาวไทยภูเขาที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้น ในระยะที่ 1 และจะดำเนินการพัฒนารูปแบบการป้องกันโรคดังกล่าวและทดลองประสิทธิภาพในระยะที่ 2 โดยดำเนินการวิจัยชนเผ่าละสองหมู่บ้าน โดยหมู่บ้านที่หนึ่งเป็นหมู่บ้านทดลองและหมู่บ้านที่สองเป็นหมู่บ้านควบคุม สามารถสรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้ จากการวิเคราะห์ทางสถิติ พบว่า มีสี่ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคเบาหวานในกลุ่มชาวเขาที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป กล่าวคือ สถานภาพสมรส ระดับความรู้ในการป้องกันและควบคุมโรคเบาหวาน เส้นรอบเอวและระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ส่วนโรคความดันโลหิตสูงนั้นพบว่า มีสองปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเป็นโรคความดันโลหิตสูงในกลุ่มประชากรดังกล่าว กล่าวคือ ปริมาณการใช้น้ำมันในการประกอบอาหารและความเครียด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาแยกตามรายชนเผ่าพบว่า มีความแตกต่างกันในปัจจัยเสี่ยงของการเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานของแต่ละชนเผ่าที่แตกต่างกัน ส่วนการดำเนินงานในระยะที่ 2 พบว่า การดำเนินงานหรือกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดปัญหาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน พบว่า กิจกรรมของแต่ละหมู่บ้านทดลองในแต่ละชนเผ่ามีความแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาทักษะการปรุงอาหารโดยลดการใช้เกลือและเครื่องปรุงอาหารอื่นๆ รวมถึงการลดปริมาณไขมันในการประกอบอาหาร ตลอดทั้งการออกกำลังกายชนิดต่างๆ ซึ่งในช่วงระยะเวลาสามถึงห้าเดือนของการทดลอง พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ตลอดทั้งความตระหนักในปัญหาโรคความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมที่ทดลองในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่องและมีขยายขอบเขตการดำเนินการซึ่งเกิดขึ้นจากประชาชนในหมู่บ้าน นอกจากความรู้ ทัศคติและกิจกรรมที่ดำเนินการต่อเนื่องแล้ว ค่าดัชนีไขมันในเลือดมีแนวโน้มลดลง ทั้งในภาพใหญ่และในกลุ่มที่เป็นโรคอยู่แล้วอย่างชัดเจน ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ในพื้นที่อื่นๆ