บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาช่องว่าง อุปสรรคและความท้าทายในการควบคุมและป้องกันปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อในสถานที่ทำงานของประเทศไทย โดยใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative research) การทบทวนเอกสารข้อแนะนำนโยบายและมาตรการจากองค์กรระหว่างประเทศเพื่อเป็นตัวแบบในการเปรียบเทียบกับนโยบายและมาตรการของประเทศไทย และสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางนโยบายของประเทศไทยเพื่อหาอุปสรรคและความท้าทายของการดำเนินงาน ผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยยังขาดกรอบนโยบายระดับชาติที่มีจุดเน้นในมิติคนทำงานในสถานที่ทำงาน และการบูรณาการระหว่างการสร้างเสริมสุขภาพกับระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างจริงจัง และยังขาดการพัฒนามาตรการสร้างแรงจูงใจทางการเงินและการคลังแก่ผู้ประกอบการเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพลดปัจจัยเสี่ยงโรคไม่ติดต่อในสถานที่ทำงาน การดำเนินนโยบายและมาตรการมีอุปสรรคและความท้าทายสำคัญคือความไม่สอดคล้องกันของนโยบายของหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้อง (กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงแรงงาน) การบังคับใช้กฎหมายมีข้อจำกัด การเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพคนทำงานในสถานที่ทำงานขาดความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพในการติดตามและขาดการประเมินผลลัพธ์ทางสุขภาพของคนทำงานในสถานที่ทำงาน ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันพิจารณาแนวทางการบูรณาการมาตรการสร้างเสริมสุขภาพเข้ากับระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในสถานที่ทำงาน พิจารณาการพัฒนากรอบนโยบายระดับชาติด้านสุขภาพแรงงาน และพิจารณาการพัฒนามาตรการระดับชาติเพื่อสร้างแรงจูงใจทางการเงินการคลังแก่สถานที่ทำงานขนาดเล็กและกลาง อีกทั้งควรพัฒนากลไกกลางในการจัดการและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข้ามภาคส่วน
บทคัดย่อ
The objective of this study was to identify gaps, barriers, and challenges of risk factor prevention policy on non-communicable diseases in workplace in Thailand. This study used qualitative approach by reviewing policy recommendations from international organizations in comparison with policies in Thailand. In-depth interviews with policy stakeholders were also conducted to identify policy gaps, barriers, and challenges of implementation. The study findings revealed that no national policy framework of healthy workplace and the integration of health promotion (HP) and occupational safety and health (OSH) could be seen. Also, there was no guideline for financial incentive development for employers to promote healthy workplace. Additionally, potential barriers on policy implementation were explored, including lack of alignment between key policy agencies (such as Ministry of Public Health and Ministry of Labor), limitations of law enforcement, lack of linkage on individual health data in workplace, and inefficient monitoring and evaluation of health outcomes among workers in workplace. Therefore, policy recommendations are proposed to the Ministry of Labor and the Ministry of Public Health to consider the integration of HP with OSH in the workplace, develop a national policy framework of worker health and incentive measures to encourage small and medium enterprises in implementing policy at workplace. In addition, the central cross-sectoral data integration for health should be in place.