บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการคืนทุนของบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยทำการศึกษาเชิงพรรณนาแบบย้อนหลัง อิงสถิติความชุกของโรค คำนวณต้นทุนบริการทางการแพทย์โดยใช้วิธีมาตรฐาน และแบบต้นทุนจุลภาคในมุมมองของผู้ให้บริการ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้พิการทางกายและการเคลื่อนไหวภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มารับบริการที่โรงพยาบาลอุดรธานี ปีงบประมาณ 2549 ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในจำนวน 239 ราย
โดยมีโครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่เป็นต้นทุนค่ากายอุปกรณ์และเครื่องช่วยร้อยละ 69.05 รองลงมาคือต้นทุนการรักษาในโรงพยาบาลร้อยละ 17.09 ต้นทุนกายภาพบำบัดร้อยละ 5.35 ต้นทุนกิจกรรมบำบัดร้อยละ 4.53 ต้นทุนการตรวจประเมินร้อยละ 3.13 ต้นทุนค่ายาร้อยละ 0.62 และต้นทุน Phenol block ร้อยละ 0.23 การศึกษาพบว่าต้นทุนรวมของทุกบริการเท่ากับ 8,365.07 บาท/ราย/ปี หากบริการที่โรงพยาบาลจัดให้ผู้รับบริการตรงกับรายการอุปกรณ์และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์คนพิการที่ประกาศโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) จะสามารถเรียกเก็บเงินชดเชยได้ตามราคาของโรงพยาบาล แต่ไม่เกินอัตราที่ สปสช. กำหนด ดังนั้นจึงวิเคราะห์การคืนทุนทั้งในกรณีที่คำนวณต้นทุนจากบริการที่มีในรายการเรียกเก็บของสปสช. และกรณีที่คำนวณต้นทุนจากบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ทั้งหมด พบว่าอัตราการคืนทุนเป็นร้อยละ 36.77 ของต้นทุนบริการที่มีในรายการเรียกเก็บของสปสช. และมีอัตราการคืนทุนร้อยละ 29.11 ของต้นทุนทั้งหมดที่ต้องใช้ไปในกิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เมื่อวิเคราะห์อัตราคืนทุนของต้นทุนค่าวัสดุเพียงอย่างเดียว พบว่ามีอัตราการคืนทุนร้อยละ 59.47 ของต้นทุนบริการที่มีในรายการเรียกเก็บของสปสช. และมีอัตราการคืนทุนร้อยละ 55.53 ของต้นทุนทั้งหมดที่ต้องใช้ไปในกิจกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์
ดังนั้นบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีอัตราการคืนทุนราวหนึ่งในสามจากรายการอุปกรณ์และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และอัตราการจ่ายชดเชยในปัจจุบัน จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องให้ความใส่ใจ ผลการศึกษานี้โรงพยาบาลสามารถใช้เป็นแนวทางบริหารต้นทุนเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในด้านผู้กำหนดนโยบายสามารถนำไปใช้ประกอบพิจารณาปรับรายการอุปกรณ์และบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์คนพิการให้มีรายการที่ครอบคลุมทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อม เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถคืนทุนได้ ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้สถานพยาบาลจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์มากขึ้น ส่งผลให้คนพิการมีศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองได้