บทคัดย่อ
ยุทธศาสตร์การวิจัยระบบสุขภาพ ปี พ.ศ.2554-2558 ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเร่งจัดการความรู้สู่ระบบ
สุขภาพที่เป็นธรรมและยั่งยืน และหนึ่งในแผนงานวิจัยที่สำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวคือ การพัฒนาความ
เข้มแข็งกลไกการอภิบาลระบบสุขภาพ (Health system governance) ซึ่งคำว่าการอภิบาลระบบ มีการใช้มานานพอสมควร แต่ก็ให้ความหมายแตกต่างกัน ในที่นี้เรา
หมายถึง การใช้อำนาจร่วมกัน (ของกลไกและหน่วยงานต่างๆ) ในการกำกับทิศทางการตัดสินใจเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (เช่น สุขภาวะของประชาชน)
ดังนั้น กลไกอภิบาลระบบฯ จึงไม่ได้จำกัดที่กลไกภาครัฐเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปฏิสัมพันธ์ของกลไกทั้งหมดในสังคม ซึ่งแต่ละกลไกมีพลังอำนาจในมิติที่แตกต่างกัน
กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ก่อตั้งมาเกือบ 70 ปี นับเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการอภิบาลระบบสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า การปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข
เกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง ครั้งสำคัญในปี พ.ศ.2517 ที่มีการแยกบทบาทของกรมวิชาการกับหน่วยปฏิบัติการ คือ สำนักงานปลัดกระทรวง และมีการขยายส่วนราชการ
ต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนแปลงครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.2545 ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีหน่วยงานเทียบเท่ากรมอยู่ในสังกัด 9 กรมและหน่วยงานในกำกับอีก
จำนวนหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงครั้งหลังสุดจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ซึ่งเป็น 10 ปีที่สังคมไทยและปัญหาสุขภาพของคนไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก
จนทำให้มีผู้ตั้งคำถามว่า สมควรที่จะทบทวนบทบาทภารกิจและโครงสร้างของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้งหรือไม่ เป็นที่น่ายินดีว่า กระทรวงสาธารณสุขตอบสนองต่อประเด็น
คำถามดังกล่าวด้วยการจัดกระบวนการต่างๆ อย่างกว้างขวาง ด้วยมุมมองและวิธีการที่เปิดกว้างอย่างมาก และด้วยกระบวนการดังกล่าว ไม่ว่าผลสรุปจะเป็นเช่นไร
สะท้อนให้เห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ผ่านการปฏิรูปครั้งสำคัญไปแล้ว คือ การปฏิรูปกระบวนทัศน์ในการบริหารจัดการ
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ยินดีที่ได้มีโอกาสสนับสนุน และร่วมในกระบวนการดังกล่าวของกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เป็น
ภารกิจของ สวรส. คือ การจัดการความรู้เพื่อสนับสนุนการพัฒนา โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ สวรส. ได้ร่วมสนับสนุน
คือ การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง บทบาทกระทรวงสาธารณสุขในศตวรรษที่ 21 ขึ้นเมื่อวันที่ 25-26 มิถุนายน 2554
เอกสารฉบับนี้บันทึกความรู้ ความเห็น และประเด็นแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในการประชุมครั้งนี้หวังว่าเอกสารฉบับนี้จะเป็นประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องและ
ผู้สนใจ เพื่อใช้ในการพัฒนากลไกอภิบาลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป