Abstract
ในปี 2554 ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นการประกันสุขภาพของภาครัฐมีความครอบคลุมประชากรไทยประมาณ 48.3 ล้านคน (คิดเป็นร้อยละ 74.3 ของประชากรทั้งประเทศ) การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อหารูปแบบของการใช้บริการผู้ป่วยนอกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยต่อคนต่อปีและความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยกับรูปแบบการใช้บริการในแผนกผู้ป่วยนอกต่อปี วิธีการศึกษาใช้ข้อมูลผู้ป่วยนอกรายบุคคลที่ใช้บริการในปี 2554 จาก 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ขอนแก่น ลำปาง สงขลา กำหนดรูปแบบการใช้บริการ 31 รูปแบบ จาก 5 ประเภทหน่วยบริการประกอบด้วย สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลอื่นๆ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนาและการวิเคราะห์ความแปรปรวนระหว่างค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยต่อคนต่อปีกับรูปแบบของการใช้บริการ ผลการศึกษาพบว่าการใช้บริการในหน่วยบริการประเภทเดียวมีการใช้บริการในสถานีอนามัยเฉลี่ยร้อยละ 29.1, ที่โรงพยาบาลชุมชนร้อยละ 19.8 ลำดับที่สามคือโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ร้อยละ 7.5 การใช้บริการหน่วยบริการ 2 ประเภท พบว่ามีการใช้บริการสูงสุดที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลชุมชนคิดเป็นร้อยละ 20.8, เป็นที่สถานีอนามัยและโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ร้อยละ 4.5, โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปร้อยละ 2.1 สำหรับการใช้หน่วยบริการ 3 ประเภทพบว่าใช้บริการสูงสุดที่สถานีอนามัย,โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป ร้อยละ 2.8 สำหรับรูปแบบการใช้บริการอื่นๆ มีการใช้บริการน้อยกว่าร้อยละ 1.0 ด้านค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยต่อคนต่อปี พบว่าค่าใช้จ่ายต่ำสุดอยู่ที่การใช้บริการที่สถานีอนามัย คิดเป็น 295.4 บาทต่อคนต่อปี และสูงสุดที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปและโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย คิดเป็น 13,236.2 บาทต่อคนต่อปี จากการหาความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายกับรูปแบบการใช้บริการทั้ง 31 รูปแบบสรุปได้ว่าค่าใช้จ่ายสามารถจัดกลุ่มรูปแบบการใช้บริการได้ 7 กลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันจากการศึกษารูปแบบการใช้บริการมีความสอดคล้องกับนโยบายระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ความแตกต่างของรูปแบบการใช้บริการมีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการจัดสรรงบประมาณ และพัฒนาระบบการจ่ายเงินสำหรับผู้ป่วยนอก ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงถึงรูปแบบการใช้บริการผู้ป่วยนอกด้วย