บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพของประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อวิเคราะห์และพยากรณ์ความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพในการให้บริการทางสุขภาพระดับทุติยภูมิ โดยการวิเคราะห์กำลังคนประเภทแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร แพทย์แผนไทย ผู้ช่วยแพทย์แผนไทย นักกายภาพบำบัด และนักเทคนิคการแพทย์ โดยประยุกต์ใช้กรอบแนวคิด utilization-based model ประกอบกับแนวคิดการวิเคราะห์กำลังคนด้านสุขภาพที่พัฒนาโดย Segal ร่วมกับการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (sensitivity analysis) ขั้นตอนการวิเคราะห์คือ ขั้นที่ 1 รวบรวมข้อมูลจำนวนการไปใช้บริการสุขภาพ จำแนกเป็นการไปใช้ในโรงพยาบาลรัฐบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นอกกระทรวงสาธารณสุข และเอกชน ขั้นที่ 2 พยากรณ์จำนวนการไปรับบริการสุขภาพในอนาคต ตามโครงสร้างอายุของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ขั้นที่ 3 คำนวณจำนวนชั่วโมงการทำงานทั้งหมดที่ใช้ในการให้บริการทางการแพทย์แต่ละประเภทต่อปี ขั้นที่ 4 คำนวณจำนวนบุคลากรทางการแพทย์แต่ละประเภทที่ต้องการในอนาคตตามแนวทาง full time equivalence (FTE) และขั้นที่ 5 วิเคราะห์ความอ่อนไหว ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าในปี พ.ศ. 2569 ประเทศไทยจะมีความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นทุกประเภท แต่เป็นจำนวนที่ไม่มากนัก มีความต้องการแพทย์จำนวน 12,432 FTE พยาบาลจำนวน 52,392 FTE เภสัชกร จำนวน 5,042 FTE ทันตแพทย์จำนวน 5,869 FTE นักเทคนิคการแพทย์จำนวน 4,699 FTE นักกายภาพบำบัดจำนวน 1,795 FTE แพทย์แผนไทยจำนวน 4,202 FTE และผู้ช่วยแพทย์แผนไทยจำนวน 3,043 FTE ถ้าพิจารณางานด้านอื่นๆ ด้วย จะทำให้ความต้องการกำลังคนทุกประเภทสูงขึ้น กล่าวคือ ต้องการแพทย์เพิ่มขึ้นจาก 12,432 FTE เป็น 14,297 FTE เภสัชกรเพิ่มเป็น 7,260 FTE พยาบาลเพิ่มเป็น 60,251 FTE ทันตแพทย์เพิ่มเป็น 6,749 FTE นักเทคนิคการแพทย์เพิ่มเป็น 5,404 FTE นักกายภาพบำบัดเพิ่มเป็น 2,064 FTE และแพทย์แผนไทยเพิ่มเป็น 5,463 FTE งานศึกษาครั้งนี้บ่งชี้ว่า โครงสร้างอายุของประชากรที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต จะทำให้ประชาชนไปรับบริการสุขภาพมากขึ้น ความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพจึงสูงขึ้นตามไปด้วย งานศึกษายังบ่งชี้อีกว่าในอนาคตประเทศไทยจะมีความต้องการกำลังคนด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นทุกสาขาแต่ไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ในการเตรียมความพร้อมด้านการจัดสรรกำลังคนให้เพียงพอกับความต้องการในอนาคตนั้น การเพิ่มการผลิตหรือการใช้แรงจูงใจที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงินเป็นทางเลือกที่ต้องทำการวิเคราะห์อย่างละเอียดต่อไป
บทคัดย่อ
The present study intended to provide information relevant to human resources for health (HRH) planning in Thailand. The objectives were to analyze and predict requirement for HRH including physicians, nurses, dentists, pharmacists, Thai traditional physicians, Thai traditional physician assistances, physical therapists, and medical technologists in the secondary care setting. We applied the utilization-based model and the approach developed by Segal. The study had 5 steps: (1) collecting utilization data by types of services (the public services under the Ministry of Public Health (MOPH), other public services and the private services); (2) forecasting the requirement for health services in the future using a change in demographics; (3) calculation of the total work hours that each HRH type spending on patients; (4) calculation of full time equivalence; and (5) conducting sensitivity analysis. We found that in 2026 Thailand would require more HRH: physicians 12,432 FTE; nurses 52,392 FTE; pharmacists 5,042 FTE; dentists 5,869 FTE; medical technologists 4,699 FTE; physical therapists 1,795 FTE; Thai traditional physicians 4,202 FTE; and Thai traditional physician assistants 3,043 FTE. However, if we add the other work (not only the health services work), the HRH will require more: an increase in physicians from 12,434 FTE to 14,297 FTE; pharmacists to 7,260 FTE; nurses to 60,251 FTE; dentists to 6,749 FTE; medical technologists to 5,404 FTE; physical therapists to 2,064 FTE; and Thai traditional physicians to 5,463 FTE. The current study confirms that Thailand will need more HRH in the future. It indicates the importance of demographic factor as an increase requirement on elderly health services. An increase in HRH production including financial and non-financial incentive policy options should be studied in details in the near future.