บทคัดย่อ
ปี พ.ศ. 2566 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุระยะที่ 3 พ.ศ. 2566-2580 โดยแผนระยะที่ 3 มีวิสัยทัศน์ คือ “ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง เป็นพลังพัฒนาสังคม” จากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 มีข้อกังวลว่าผู้สูงอายุจะได้รับผลกระทบมากและกระทบถึงอายุขัยประชากร (life expectancy) กับโครงสร้างประชากรโลก ส่วนการศึกษาในประเทศไทยที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้เกี่ยวกับผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อคุณภาพชีวิตและความพึงพอใจต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุในช่วงต่างๆ ของการระบาด พบว่า คะแนนคุณภาพชีวิตและความพึงพอใจต่อภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาคและช่วงเวลา ในภาพรวมพบว่า ช่วงปี พ.ศ. 2564 มีคะแนนลดลงจากช่วงปี พ.ศ. 2563 เนื่องจากมีการระบาดของโรคมากขึ้นและมีมาตรการที่รบกวนชีวิตความเป็นอยู่มากขึ้น โดยมีข้อสังเกตว่า ระดับคะแนนความพึงพอใจที่ให้แบบรวบยอด มีคะแนนต่ำกว่าคะแนนคุณภาพชีวิตที่ได้จากคำถาม 5 ด้าน ที่ประเมินเป็น 3 ระดับ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจึงมีส่วนสัมพันธ์กับข้อจำกัดของการเคลื่อนไหวและการดำรงชีวิต ความยินดีจ่ายสำหรับบริการการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุสัมพันธ์กับจำนวนฟันที่เหลืออยู่ ซึ่งข้อค้นพบอาจมีประโยชน์ต่อกลุ่มวัยเด็กและวัยทำงานที่อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดียวกัน และยังสามารถหาความสัมพันธ์กับปัจจัยสิ่งแวดล้อม ซึ่งสมควรที่จะได้รับความสนใจพัฒนาต่อเพื่อให้สามารถก่อประโยชน์ตามแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2580 และยังเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มวัยอื่นอีกด้วย